สาเหตุที่คุณยังก้าวขึ้นสู่การเป็นนักขายมืออาชีพไม่ได้เสียที
การทำอาชีพเซลล์หรือนักขาย โดยเฉพาะนักขายในองค์กร ถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างรวดเร็ว
อาชีพนักขายในปัจจุบันจึงถูกยกระดับความสำคัญ แทบจะทุกพื้นที่ของวงการธุรกิจ เรียกได้ว่าบริษัทไหนมีนักขายฝีมือดีอยู่ในมือมากๆ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจโดยรวมมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งและการสร้างยอดขายจากกลุ่มลูกค้าใหม่ กับการดูแลพวกเขาเป็นอย่างดีเพื่อให้พวกเขากลายเป็นลูกค้าขาประจำ
เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้อาชีพนักขายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และทำให้เหล่าคนทำงานที่ประกอบอาชีพนี้ได้รับรายได้ที่สูงเกินค่าเฉลี่ยของค่าตอบแทนจากหลายๆ สาขาอาชีพ โดยเฉพาะค่าตอบแทนที่เรียกว่า “คอมมิชชั่น”
ซึ่งค่าคอมมิชชั่นนี่เองที่ทำให้เหล่านักขายได้ผลประโยชน์ราวกับ “เจ้าของกิจการ” หรือผู้ถือหุ้น เรียกได้ว่า “ทำมากได้มาก” ยิ่งขยัน ปิดการขายได้ ก็ยิ่งได้เงินเข้ากระเป๋ามากนั่นเอง
หลายๆ ท่านถึงขั้นกลายเป็น “เจ้าของกิจการ” ที่มีฝีมืออันยอดเยี่ยม ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นนักขายมานักต่อนัก กลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้าน แถมยังมีกิจการที่มั่นคง
แต่การก้าวขึ้นสู่การเป็น “นักขายระดับมืออาชีพ” นั้นก็ไม่ใช่ของง่าย สิ่งที่ต้องมีคือความรู้ความเชี่ยวชาญรวมถึง “วิธีการ” ที่ถูกต้อง อีกทั้งยังต้องมีวินัยและมีการฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่น
นักขายหลายๆ ท่านทำงานมาเป็นสิบปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสายงานเสียที ยิ่งนักขายมือใหม่ที่พึ่งจบใหม่คงไม่ต้องพูดถึง เผลอๆ บางคนเปลี่ยนใจไปทำอาชีพอื่นเลยก็มี
ผมจึงขอแชร์สาเหตุที่คุณยังก้าวไปสู่การเป็นนักขายระดับมืออาชีพไม่ได้เสียทีกันเลยครับ ลองเช็คตัวเองนะครับว่าคุณอยู่ในข่ายเหล่านี้หรือเปล่าติดตามกูนี่แหละเซลล์ร้อยล้านได้ที่
1. เป้าหมายของการประกอบอาชีพนี้ของคุณไม่ชัดเจนมากพอ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของไมนด์เซ็ต (Mindset) ล้วนๆ ซึ่งการเป็นนักขายจะต้องเริ่มต้นจาก “ความอยากรวย” และประสบความสำเร็จก่อนเป็นอันดับแรก การประกาศให้โลกรู้ว่าตัวเองอยากรวย (แบบสุจริต) ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด นักขายที่อยากรวยย่อมอยากทำงานในอาชีพนี้ให้ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งต่อยอดธุรกิจออกไปให้ได้จากการเป็นนักขาย ซึ่งถ้าคุณมีทัศนคติหรือเป้าหมายในเรื่องนี้ไม่ชัดเจนพอ คุณก็จะมีแนวโน้มเป็นนักขายระดับธรรมดาๆ เท่านั้นครับ
2. คุณยังไม่เข้าใจหน้าที่ของการเป็นนักขายมากพอ
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจหน้าที่ของตัวเองว่าการเป็นนักขายแบบมืออาชีพจะต้องทำ “กิจกรรมการขาย” อะไรบ้างที่ทำให้คุณได้เงิน คุณก็จะมีแนวโน้มว่าจะทำงานแบบสะเปะสะปะ หรือทำงานไม่เป็นไปเลยก็มี นักขายแบบมืออาชีพจะรู้ว่าตนเองต้องทำกิจกรรมอะไรและให้ความสำคัญกับสิ่งใดเพื่อให้ทุกอย่างดลบันดาลไปสู่การสร้างยอดขาย และนักขายมืออาชีพจะรู้ดีว่าการขายนั้นไม่มีคำว่า “ฟลุ้ก” หรือต้องมีเส้นสายเยอะๆ เด็ดขาด
3. คุณยังยึดติดกับคำว่านักขายที่เก่งจะต้องมีคอนเน็กชั่นเยอะๆ
ผมไม่เถียงว่าคอนเน็กชั่นหรือคนรู้จัก โดยเฉพาะคนใหญ่คนโตที่เขาน่าจะมีผลประโยชน์กับคุณจะส่งผลดีต่อการขายและทำให้คุณขายง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณหาลีดหรือลูกค้าใหม่ไม่เก่ง คงมีซักวันที่คุณใช้คอนเน็กชั่นไปหมดแล้ว จากนั้นก็ขายใหม่ไม่ได้อีก หรือถ้าย้ายบริษัทไปขายสินค้าตัวอื่น คุณก็กลายเป็นแค่ “เด็กอนุบาล” ก็เท่านั้นเอง ถ้าคิดไปเองว่านักขายที่เก่งจะต้องมีคอนเน็กชั่นมาก่อน เด็กจบใหม่คงหมดสิทธิ์ที่จะขายของได้แล้วล่ะครับ
4. คุณหาลีดลูกค้าใหม่ไม่เก่ง
การหาลีดลูกค้าใหม่ในสมัยก่อนคงหนีไม่พ้นการเปิดสมุดหน้าเหลืองหรือกูเกิ้ลดูเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าตามกลุ่มธุรกิจที่น่าจะซื้อคุณได้ หรือขาดการใช้เครื่องมือที่ทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นเช่นโซเชี่ยลมีเดียอย่างลิ้งก์อินหรือเฟซบุ้ค คุณเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากในการหาชื่อ เบอร์โทร เพื่อโทรทำนัดลูกค้าใหม่ คุณจึงคิดว่าการมีคอนเน็กชั่นเยอะๆ หรือถามคนอื่นเอาคงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ายังไงล่ะครับ รู้ตัวอีกทีก็ “เสร็จ” นักขายมืออาชีพที่หาลีดเก่งกว่าด้วยเครื่องมือดีๆ แล้ว
╔═══════════╗
การขายยุค AI และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นแบบนี้ ติดตามกูนี่แหละเซลล์ร้อยล้านแบบวีดีโอได้ใน YouTube- คอนเทนต์วีดีโอด้วยความรู้ระดับโลกตลอด 365 วัน ที่นี่ YouTube.com/@sales100million
╚═══════════╝
5. คุณอ่อนเรื่องการโทรทำนัด
การโทรทำนัดลูกค้าใหม่ที่เป็นคนแปลกหน้าย่อมเป็นเรื่องยากสำหรับนักขายทั้งมือเก่าและมือใหม่ นักขายรุ่นเก๋าบางคนมาจากวงการนักขายที่ได้ดูแลลูกค้าตามที่บริษัทมอบหมายให้ทำ หรือที่เรียกว่าตำแหน่ง “Account Manager” พอต้องหาลูกค้าใหม่ด้วยการโทรทำนัดก็เลยไปไม่เป็น การโทรแบบไม่มีสคริปที่ดีจะยิ่งสร้างผลลัพธ์ของการโดนปฎิเสธ ทำให้การขายใหม่นั้นไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็ว่าได้
6. คุณเข้าไปเจอลูกค้าและไม่อาจสร้างความต้องการซื้อจากตัวลูกค้าได้
การเจอหน้าลูกค้าครั้งแรกจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์เชิงธุรกิจกับพวกเขาอย่างยิ่งยวด เรื่องเสื้อผ้าหน้าผมหรือบุคลิกที่ดีนั้น ผมคงไม่ขอพูดซ้ำให้มากความ แต่สิ่งสำคัญที่พวกคุณละเลยก็คือ “การถามคำถาม” ที่เฉียบคม รวมถึงการฟังจับใจความเพื่อค้นหาว่าพวกเขามีปัญหาหรือมีความต้องการอะไรบ้าง ซึ่งความยากก็คือบางทีลูกค้าไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองมีปัญหา ทำให้การนำเสนอสินค้าและบริการของคุณไม่สามารถสร้างความต้องการต่อพวกเขาได้
7. คุณนำเสนอดี แต่ขาดการติดตามงานที่มีประสิทธิภาพ
บางทีคุณอาจจะคิดว่าบรรยากาศการนำเสนอนั้นเป็นไปได้ด้วยดี ลูกค้ามีความต้องการ สนใจ คุณจึงเริ่มทำงบประมาณให้ลูกค้าพิจารณาได้ แต่พอส่งไปแล้วลูกค้าก็เงียบ เมื่อโทรไปก็บอกว่าดูอยู่หรือยังไม่ว่าง คุณจึงเริ่มโทรตามถี่ๆ ซึ่งบางทีพวกเขาก็เริ่มบ่ายเบี่ยงการทำนัด ไม่รับสาย หรือกดสายทิ้งไปเลยก็ได้ สุดท้ายการขายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ที่สำคัญคือคุณขาดการทำ “รายงานการขาย” ที่ทำให้คุณไม่ทราบว่าแต่ละรายจะต้องตามที่ขั้นตอนไหน
8. คุณคุยกับลูกค้าผิดคน
นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้คุณปิดการขายไม่ได้หรือเสียเวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็ว่าได้ การคุยกับลูกค้าที่มีตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะการขายแบบองค์กร (B2B) จะต้องเช็คให้ละเอียดว่าคนที่คุยมีตำแหน่งอะไร มีอำนาจการตัดสินใจมั้ย เพราะถ้าคุณไม่ทราบหรือไม่รู้ตัว การขายที่ดีและมีสัญญานว่าคนที่คุยจะซื้อคุณแน่ๆ อาจพลิกโผในขั้นตอนสุดท้ายก็ได้ สาเหตุเป็นเพราะคู๋แข่งเข้าถึงลูกค้าผู้มีอำนาจตัดสินใจเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
╔═══════════╗
การขายยุค AI และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นแบบนี้ ติดตามกูนี่แหละเซลล์ร้อยล้านแบบวีดีโอได้ใน YouTube- คอนเทนต์วีดีโอด้วยความรู้ระดับโลกตลอด 365 วัน ที่นี่ YouTube.com/@sales100million
╚═══════════╝
9. คุณไม่สามารถเคลียร์ข้อโต้แย้งในใจของลูกค้าได้
ข้อโต้แย้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการขาย ตัวคุณเองยังกังวลเลยเวลาต้องเลือกซื้อสินค้าที่ตัวเองไม่เคยใช้มาก่อน นักขายที่ตอบข้อโต้แย้งให้กับลูกค้าได้ไม่ดีจะส่งผลไปสู่การ “ถกเถียง” บางรายถึงขั้นเลวร้ายด้วยการ “หัวร้อน” เวลาลูกค้าบลัฟด้วยคู่แข่งหรือเจ้าปัจจุบันว่าดีกว่าคุณ การตอบข้อโต้แย้งได้ไม่ดีหรือทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณกำลังเถียงพวกเขาจะทำให้การขายนั้นไร้ประสิทธิภาพ
10. คุณเสียผลประโยชน์มากมายในช่วงการเจรจาต่อรอง
การเจรจาต่อรองหรือเรียกง่ายๆ ว่าช่วงต่อราคา ของแถม ก็เป็นอีกส่วนนึงที่คุณกำลังจะได้ยอดขายอยู่แล้ว แต่ต้องเสียผลประโยชน์หรือกำไรที่ควรจะได้ไปกับช่วงของการต่อรองนี่เอง โดยเฉพาะลูกค้าที่เขี้ยวลากดิน นักขายที่อ่อนเรื่องนี้จะยอมลูกค้าไปแทบทุกกรณี สร้างอำนาจการต่อรองไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่ายังไงลูกค้าก็ซื้อ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับนักขายที่ยังไม่เก่งเรื่องการเจรจาต่อรอง ขายของได้แต่กำไรไม่ดีก็เท่านั้น ค่าคอมฯ ก็ได้น้อยแถมรวยช้า
11. คุณปิดการขายไม่ได้
การปิดการขายมักจะเป็นเรื่องท้ายๆ โดยเฉพาะการขายแบบองค์กร การคิดไปเองว่าเทคนิคแพรวพราวเช่นส่วนลด ของแถม หรือจำนวนจำกัด อะไรทำนองนี้จะไม่ค่อยเวิร์กสำหรับการขายแบบองค์กร (B2B) หรือการขาดการรับรู้ว่าจังหวะไหนหรือขั้นตอนไหนควรจะโทรทำนัดเพื่อเข้าไปปิดลูกค้ากันได้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณล่าช้าในการปิดดีลไปจนถึงการพลาดโอกาสในการได้ดีลนั้นๆ ไปเลยก็ว่าได้
12. ลูกค้าไม่ยอมซื้อซ้ำกับคุณ
ก่อนขายว่ายากแล้ว แต่ “หลังขาย” นั้นยากยิ่งกว่า การบริการหลังการขายนั้นไล่ตั้งแต่การแก้ปัญหาหรือการเข้าเยี่ยมลูกค้าเก่า ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องลงมือทำอยู่เสมอ นี่คือความแตกต่างระหว่างมือสมัครเล่นที่เวลามีปัญหาหรือขายได้แล้วก็จะเริ่มหายหัวจนลูกค้าสงสัย ผลลัพธ์ด้านลบที่เกิดขึ้นคือความเชื่อมั่นจากลูกค้าที่ไม่อาจซื้อสินค้าคุณซ้ำหรือหันไปซื้อกับคู่แข่งคุณนั่นแหละ
ติดตามกูนี่แหละเซลล์ร้อยล้านได้ที่
Website – sales100million.com
Blockdit – blockdit.com/sales100million
Facebook – facebook.com/sales100million
Instagram – instagram.com/sales100million
YouTube – youtube.com/@sales100million
TikTok – tiktok.com/@sales100million
LinkedIn – linkedin.com/company/sales100million
Comments
0 comments