อะไรที่ทำให้คนทำงานแต่ละคน “ก้าวหน้า” แตกต่างกัน
เคยสงสัยมั้ยครับว่าเพื่อนที่เรียนจบสถาบันเดียวกับเรา คณะเดียวกัน เมื่อสายลมพัดผ่านไปซัก 10 ปี แต่ละคน “ก้าวหน้า” แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน บางคนได้ดิบได้ดีถึงขั้นเป็นผู้บรหารระดับสูง อยู่ในองค์กรชั้นนำ บางคนได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เทียบกับบางคนที่งานอาจจะฟังดูลุ่มๆ ดอนๆ
คุณอาจจะเถียงผมว่าตอนเรียนจบมหาลัย ทุกคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนรักความมั่นคง ก็เลยทำงานราชการที่ทำได้ยาวนาน จะเอาเรื่องรายรับมาเทียบกับคนทำงานเอกชนระดับสูงแต่มีความเสี่ยงมากกว่าก็คงไม่ได้
ดังนั้นผมลองย่อขนาดการเปรียบเทียบให้เล็กลงและเห็นภาพชัดขึ้น นั่นก็คือการเริ่มต้นเข้าทำงานกันดีกว่าครับ เพราะเป้าหมายคงเป็นเรื่องทำงานบริษัทเอกชนค่อนข้างแน่ หลายแห่งคัดคนจบที่เดียวกัน คณะเดียวกัน มีแบบทดสอบคัดคนเข้าบริษัทก่อนด้วยซ้ำ ดูทรงนี้คุณคิดเหมือนผมมั้ยครับว่าถ้าให้มีเด็ก 2 คนที่คัดเข้ามาทำงานพร้อมกันแล้ว 10 ปีต่อจากนี้ พวกเขาจะได้ดิบได้ดีเหมือนๆ กันมั้ยล่ะครับ?
ผมขอตอบเลยครับว่า “คงไม่ใช่เช่นนั้น” และเป็นความจริงเสียด้วย ไม่เชื่อลองหันไปดูคนที่ทำงานมาพร้อมๆ กับคุณเมื่อสิบปีก่อน ตำแหน่งเดียวกัน โดยเฉพาะตำแหน่งที่เทียบผลงานกันได้ง่ายอย่างทีมขาย ทีมการตลาด ทีมโปรแกรมเมอร์ ฯลฯ แล้วหันมามองตัวคุณสิครับว่าพวกเขาไปไกลหรือห่างจากคุณแค่ไหนแล้ว คุณคงเห็นความแตกต่างแน่นอน
มาดูกันว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนทำงานได้ดิบได้ดีแตกต่างกัน ขอบอกเลยว่าไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวกับเรื่องเลียแข้งเลียขาอะไรแบบนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่สิ้นคิดมากๆ อย่างแน่นอน
1. ดวง
ดวง เป็นไม่กี่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่มันก็มีผลมากอยู่เหมือนกัน ไล่ตั้งแต่การได้อยู่ในองค์กรที่ดี เป็นขาขึ้น ทีมงานเพียบพร้อม หรือแม้แต่เรื่องความเสน่หาโดยหัวหน้าและเพื่อนร่วมทีม ก็มีผลต่อการส่งเสริมในหน้าที่การงานทั้งนั้น อารมณ์ประมาณคุณหน้าตาดี ร่าเริง แล้วสมัครเข้าทำงานทีมขาย หัวหน้าชอบคุณเพราะความน่ารักน่าเอ็นดู ถูกชะตา จึงโฟกัสคุณค่อนข้างมากและถ้าคุณเอาถ่านตามน้ำได้ คุณก็จะไปไกลกว่าคนอื่นแน่นอน รวมไปถึงโอกาสที่โปรไฟล์เข้าตาบริษัทใหญ่โต ตำแหน่งดี เงินดี ก็ต้องพึ่งดวงอยู่บ้าง
2. นิสัย
ต้องเป็นคนนิสัยดี ซึ่งอาจจะวัดเป็นตัวเลขยาก แต่ก็ต้องขอย้ำว่าจำเป็นต้องลงมือทำและศึกษาการเป็นคนที่นิสัยดีให้ได้ แล้วลองถามตัวเองเสมอว่าตัวเองมีอุปนิสัยแบบนี้แล้วหรือยัง จากนั้นให้ถามเพื่อนร่วมงาน แฟน พ่อแม่ เพื่อให้พวกเขาออกความเห็นอีกแรง โดยนิสัยที่สำคัญและต้องมี มีดังนี้
– Coachable คือคนที่สอนได้ สอนง่าย ว่านอนสอนง่าย ผู้ใหญ่ย่อมเอ็นดู ต่างกับพวกอีโก้เยอะ คิดว่าตัวเองเก่ง ไม่ค่อยรับฟังคนอื่นถึงแม้ว่าตัวเองจะรู้อยู่แล้ว อย่างนี้เรียกว่าพวกสอนยาก ถือว่าเป็นด้านมืดมากๆ
– ใจกว้าง คิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก เป็นหนึ่งในทักษะของผู้นำในอนาคต ไม่เอาแต่ตัวเอง สังเกตง่ายๆ ว่า Mr. Yes ที่ดูเหมือนทำงานเหนื่อยเพื่อคนอื่น ระยะยาวมักมีคุณสมบัติที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น ต่างจากคนใจแคบที่คิดเล็กคิดน้อย เอาแค่เจ้านายเพิ่มงานนิดๆ หน่อยๆ ก็บ่น อย่างนี้รุ่งยาก ทีมจะพังถ้าเอาคนใจแคบขึ้นมาเป็นหัวหน้า เข้าใจหรือยังครับ
– จริงใจ คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เพื่อนร่วมงานเชื่อถือ การเป็นคนที่พูดเพื่อเอาตัวรอด ยุยงปลุกปั่น นินทาผู้อื่นลับหลัง ส่วนใหญ่พวกนี้มักเป็นแค่พนักงานธรรมดา ถ้าฟลุ้กๆ ก็อาจจะได้เป็นใหญ่แต่ก็เปลี่ยนงานเรื่อยๆ
นิสัยดีๆ ย่อมมีคนรัก พอมีคนรักเขาก็อยากสนับสนุน ยิ่งเป็นตำแหน่งใหญ่โตและมีคอนเนคชั่นมากๆ บางทีแทบไม่ต้องสัมภาษณ์งานให้ยุ่งยากเพื่อทำงานเป็นระดับผู้บริหารเลยด้วยซ้ำ
3. เป็นมืออาชีพในการทำงาน
ความเป็นมืออาชีพประกอบด้วยอะไรหลายๆ อย่าง สิ่งที่แตกต่างกับนิสัยมากๆ เลยก็คือเรื่องนี้สามารถวัดผลได้ ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการมาทำงานตรงเวลา ส่งมอบงานตาม KPI และงานมีความละเอียด รู้จักศึกษาตัวอย่างหรือก็อปปี้คนเก่งๆ ในบริษัทเท่านั้นเพื่อให้งานตัวเองดีขึ้น จะดีมากๆ ถ้ารู้จักทำงานเกิดความคาดหวัง เช่น คุณเป็นนักขาย ได้รับใบสั่งซื้อแล้วก็จริง แต่คุณแบ่งเวลาโทรเช็คลูกค้าหลังการขายอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ลูกค้าซื้อซ้ำกับคุณคนเดียวมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องมีวินัยมากๆ ด้วย
4. ทัศนคติ
เรื่องนี้สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่ชี้นำอนาคตคุณได้ว่าจะเป็นอย่างไร คนคิดไกลหรือวาดภาพตัวเองตั้งแต่เรียนจบว่าอยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าของธุรกิจ และคิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้ คนกลุ่มนี้มักโดดเด่นและกล้าที่จะลงมือทำอย่างไม่ย่อท้อเพราะคนอื่นๆ ในขณะนั้นมักมองว่าคนที่มีความทะเยอทะยานนั้นดีแต่พูด ทำไม่ได้หรอก อะไรทำนองนั้น ทำให้คนกลุ่มนี้พอได้ทำงานและมีสิ่งที่ผมพูดมา สามารถทำได้ดี พัฒนาตัวเองตลอด กล้าที่จะเสี่ยงกับโอกาสใหม่ๆ และไขว่คว้าความสำเร็จได้ในที่สุด ลองไปถามคนที่ได้ทำงานบริษัทดัง ตำแหน่งดีๆ ดูเถอะครับว่าพวกเขาเคยคิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้หรือเปล่า นี่แหละความต่าง
Comments
0 comments