ภาวะผู้นำ (Leadership) ถ้าคุณอยากเก่ง “ของมันต้องมี”

วันนี้ผมจะขอพูดเรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) ซึ่งได้รับความรู้ระดับโลกมาจากศาสตราจารย์ Andreas Liefooghe แห่ง University of London ที่ได้ให้เกียรติมาสอนวิชา Leadership in Organization ให้กับผมในรั้วศศินทร์แห่งนี้ (ถ้าอยากรู้ว่าแกเทพอย่างที่ผมบอกแค่ไหนก็เอาชื่อแกไปค้นในกูเกิ้ลต่อได้เลยครับ)

ผมจึงขอเน้นเรื่องภาวะผู้นำนี้อีกครั้ง ซึ่งถ้าคุณพึ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ คุณโชคดีมากๆ ที่ได้อ่านบทความและรับรู้ว่าทำไมเรื่องนี้มันถึงสำคัญมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณเป็นคนทำงานที่มีประสบการณ์ กำลังอยู่ในช่วงเริ่มเป็นผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ผู้บริหาร CEO หรือแม้แต่กำลังเริ่มเป็น “นายตัวเอง” ต้องหันมาศึกษาเรื่องนี้เลยนะครับ

ภาวะผู้นำของผู้จัดการ ผู้บริหาร หัวหน้างาน จนกระทั่งเจ้าของกิจการนั้นสามารถ “ชี้ชะตา” อนาคตของบริษัทว่าจะอยู่หรือจะไป มีอนาคตอันรุ่งโรจน์หรือตกต่ำได้เลย ยิ่งในยุคนี้ที่มี “ความหลากหลาย” (Diversity) ของบุคลากรในที่ทำงานสูงมากกว่าเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็น อายุ การศึกษา เพศ ประสบการณ์ ฯลฯ

ถ้าคุณอยากเป็นคนทำงานหรือคนที่เก่งกาจในอนาคตอันใกล้ จงฟังผมให้ดีครับว่าทำไมคุณถึงต้องมีภาวะผู้นำ และฝึกฝนจนมีความเป็นผู้นำที่สูงเหมือนกับเหล่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน


1. เป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจในเรื่องราวสำคัญซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผล (Effectiveness) ขององค์กร

เรื่องนี้ดูได้จากสิ่งใกล้ตัวของคุณก็ได้ครับ ตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่ผู้นำซึ่งเป็นคนเป็นพ่อบางคนกลับเป็นเสาหลักให้ครอบครัวไม่ได้ กินเหล้า เล่นพนัน ไม่เอาการเอางานไปวันๆ ลูกหลาน (ไม่ทั้งหมด) ถึงกลายเป็นนักเลง เด็กแว๊น อะไรทำนองนั้น (ไม่ได้เหมารวม) หรือถ้าคุณมีหัวหน้างานห่วยๆ ที่เอาแต่ตัวเอง รับรองว่าผลงานของทีมโดยรวมนั้นไม่ได้เรื่องเหมือนทีมอื่นหรือบริษัทอื่นแน่นอน

ถ้ามองกันในระดับ CEO โลก เช่น CEO บริษัท Kodak ที่ตอนนั้นไม่ตัดสินใจที่จะพาบริษัทก้าวสู่ยุคดิจิทัล จึงโดนคู่แข่งเอาไปกินหมด รู้อีกทีก็ตามไม่ทันและถึงขั้นเป็นหนึ่งในตำนานบริษัทที่ล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ คุณถึงต้องมีความเป็นผู้นำที่ฉลาดและเฉลียวในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ กับองค์กรหรือธุรกิจที่คุณกำลังลงมือทำนั่นเองครับ ต้องคิดให้รอบคอบที่สุด ประเมินความเสี่ยงเสมอ และสื่อสารให้กับคนในองค์กรได้ทำตามสิ่งที่คุณต้องการที่ผ่านการคิดค้นมาเป็นอย่างดีแล้ว

2. ภาวะผู้นำจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างอิทธิพลให้กับทีมงานเพื่อทำตามเจตนารมณ์ของคุณจนบรรลุเป้าหมายที่คุณต้องการ

ในหลายๆ ครั้งที่คุณต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์สำคัญๆ ในบริษัท เช่น การลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ การเพิ่มหรือลดจำนวนพนักงาน การควบรวมกิจการ การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ การเปลี่ยนถ่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ การเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ หรือแม้แต่คุณเองที่ได้รับการจ้างหรือแต่งตั้งให้มาเป็นผู้นำของบริษัทใหม่ เป็นต้น คุณจะต้องใช้ภาวะผู้นำที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่าพนักงานเพื่อให้พวกเขาทำงานตามปรัชญาที่คุณประกาศ เช่น คุณใช้ทักษะการพูดและท่าทางบวกกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือและพูดต่อหน้าสาธารณะชนทั้งบริษัทได้อย่างน่าจับใจ พวกเขาเกิดความฮึกเหิมและช่วยคุณลงมือทำงานจากผลของความเปลี่ยนแปลง คุณเองก็ต้องทำให้เห็นจริงด้วย

3. เป็นผู้ที่มีทักษะการสื่อสารและความเห็นอกเห็นใจที่ยอดเยี่ยม

สุดยอดผู้นำโลก เช่น บารัก โอบาม่า เนลสัน แมนเดล่า มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ฯลฯ ล้วนมีวาทะศิลป์และศิลปะในการพูดที่น่าจับใจทุกครั้ง ทำให้ผู้ฟังและคนที่อยู่รอบข้างตัวเขาล้วนรักเขา ต่างกับผู้นำของประเทศๆ หนึ่งที่ขาดวาทะศิลป์และทักษะการสื่อสารที่ดี ใช้คำหยาบคายหรือเอาอารมณ์มาเป็นใหญ่ในหลายๆ กรณีแบบออกสื่อ ทำให้ผู้นำแบบนั้นขาดความน่าเชื่อถือและสูญเสียคะแนนเสียงสำคัญๆ ไปพอสมควร คุณจึงต้องเรียนรู้ทักษะการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารที่ดีจะมาจาการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจากการเรียนรู้และประสบการณ์ ผสานกับทักษะการฟังแบบจับใจความและการเลือกใช้คำพูดที่ยอดเยี่ยม เพียงเท่านี้คนที่ทำงานร่วมกับคุณก็พร้อมรับใช้คุณแล้วล่ะครับ

4. ผู้นำคือผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจและเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ส่วนผู้จัดการคือผู้วางแผนและควบคุมนโยบายกับบังคับใช้ตามที่ผู้นำคิดค้นขึ้น

นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างภาวะผู้นำกับตำแหน่งผู้จัดการ ผู้นำที่ดีจะเก่งเรื่องแนวคิดและประกาศโดยการสื่อสารที่ดีให้กับผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ที่ทำงานร่วมกันได้รับรู้ เวลามีนโยบายสำคัญๆ ก็จะเป็นผู้นำในการประกาศอยู่เสมอ แต่พวกเขาจะขาดเหล่าผู้จัดการไปเสียมิได้ เพราะผู้จัดการ (Manager) คือผู้รับคำสั่งโดยตรงจากผู้นำ เช่น ผู้บริหาร CEO ฯลฯ มาวางแผนว่าจะทำให้คำที่ผู้นำประกาศสามารถทำได้จริงได้อย่างไร พวกเขาจึงต้องสร้างระบบควบคุมที่สามารถวัดผลได้ เช่น ผู้จัดการฝ่ายขายรับนโยบายมาจาก CEO ให้ขายสินค้าชนิดใหม่มากขึ้น ผจก. ฝ่ายขายจึงกำหนดกิจกรรมการขายกับทีมขายมากขึ้นและวัดผลว่ามีการส่งใบเสนอราคาสินค้าใหม่ไปกี่ใบแล้ว เป็นต้น


นี่คือภาวะผู้นำจากศาสตราจารย์ระดับโลกที่คุณต้องเรียนรู้และต้องมีครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น