ลูกน้องขอลาออก คุณควรทำอย่างไร
การลาออกจากงาน เป็นเรื่องปกติของสังคมคนทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงไหน คนทำงานในยุคนี้ย่อมมี “ทางเลือก” ที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตของตนเองอยู่เสมอ
เหตุผลของคนทั่วไปในการเปลี่ยนงานนั้นมีอยู่หลากหลาย เช่น ได้งานใหม่ที่ค่าตอบแทนดีกว่า ตำแหน่งใหญ่โตกว่า ลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ออกไปตามล่าฝัน ออกไปทำกงสี ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเหตุผลส่วนตัวเชิงลบ เช่น ไม่ชอบหัวหน้างาน ไม่มีความสุขกับการทำงาน องค์กรปลดพนักงานออก ทำงานไม่ดี โดนไล่ออก เป็นต้น
เมื่อคุณได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณย่อมหลีกเลี่ยงเวลาที่ลูกน้องขอลาออกจากงานไม่ได้แน่ๆ พวกเขาย่อมถึงเวลาที่จะเดินมาบอกคุณไม่วันใดก็วันหนึ่งแบบไม่ทันตั้งตัว
โดยเฉพาะทีมขาย ที่การเสียลูกน้องฝีมือดีออกไป อาจหมายถึงผลกระทบเชิงลบเกี่ยวกับธุรกิจของคุณได้เลย แถมยังต้องเสียเวลาเฟ้นหาพนักงานใหม่อีกด้วย
ผมจึงขอแชร์วิธีการรับมือพร้อมกับวางแผนเวลาลูกน้องขอลาออก โดยเฉพาะกรณีที่คุณไม่ได้ตั้งตัวหรือเตรียมตัวกันเลยครับ
1. หาเวลาสอบถามและพูดคุยถึงสาเหตุในการลาออกของพวกเขา
เมื่อได้รับข่าวเรื่องการลาออกจากลูกน้อง ไม่ว่าพวกเขาจะเดินมาบอกเองหรือมีฝ่ายบุคคลเป็นคนบอกคุณ สิ่งที่ควรทำตั้งแต่แรกคือ “การตั้งสติ” และตั้งอยู่บนความเป็นผู้นำ ไม่หัวร้อน และเริ่มทำนัดเจอหน้าลูกน้องของคุณแบบส่วนตัวทันที เพื่อใช้เวลาสองต่อสองในการสอบถามถึงสาเหตุที่พวกเขาลาออก เผื่อว่าคุณจะเจออะไรบางอย่างที่สามารถ “รั้ง” ลูกน้องของคุณเอาไว้ โดยเฉพาะลูกน้องฝีมือดีที่คุณไม่อยากเสียพวกเขาไป เหตุผลของพวกเขาคงมีมากมายที่คุณจะต้องทำความเข้าใจและยอมรับถึงสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจไปแล้ว
2. ถ้าลูกน้องลาออกด้วยเหตุผลของงานใหม่ที่ได้ผลประโยชน์สูงกว่า
ลูกน้องตัวท็อปของคุณ ฝีมือของพวกเขาย่อมส่องประกายจน “เตะตา” บริษัทอื่นๆ แน่นอน โดยเฉพาะบริษัทคู่แข่งหรือพันธมิตรทางธุรกิจบางรายที่มีทุนในการจ้างพนักงานตัวเทพ มันย่อมเป็นเหตุผลที่ลูกน้องของคุณจะตัดสินใจได้ไม่ยาก โดยเฉพาะค่าเหนื่อยหรือตำแหน่งที่เซ็กซี่มากกว่า ซึ่งคุณจะยังพอมีทางเลือกในการรั้งพวกเขา (ถ้าต้องการรั้งเอาไว้)
ด้วยการพิจารณาถึงผลตอบแทนใหม่ที่พวกเขาควรจะได้รับว่าคุ้มค่าพอกับฝีมือของพวกเขาในตอนนี้หรือใหม่ ถ้าคิดหลายตลบแล้วสามารถทำได้ ข้อเสนอใหม่ที่คุณมอบให้พวกเขาจะสามารถรั้งและเพิ่มขวัญกำลังใจต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะคุณจะรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นฮีโร่ในทีมเดิม ไม่ต้องปรับตัวอะไรให้มากมาย ทำงานกับคุณย่อมสบายกว่าและไม่ต้องไปพิสูจน์ตัวเองกับที่ใหม่เลยล่ะครับ
3. ถ้าลูกน้องลาออกด้วยเหตุผลที่คิดไปเองว่าผลงานส่วนตัวนั้นไม่ดี
เป็นเหตุผลที่ลูกน้องผู้ขาดความมั่นใจมักใช้ในการขอลาออก ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องดีนะครับที่พวกเขามองตัวเองและโทษตัวเองว่าพวกเขาทำงานได้ไม่ดีอย่างที่หวัง จึงไม่อยากให้คุณผิดหวังและเป็นฝ่ายขอลาออก คุณสามารถขอสอบถามและพูดคุยโดยตัดสินผลงานจาก “ตัวเลข” เป็นหลัก ซึ่งถ้าคุณเห็นว่าตัวเลขการทำงานของพวกเขาก็ไม่ได้ขี้เหร่ อยู่ในระดับมาตรฐาน คุณจะได้บอกกับพวกเขาว่าจริงๆ แล้วพวกเขาทำงานได้ดีแล้ว เพียงแต่ขาดความมั่นใจ คุณสามารถรั้งพวกเขาได้ด้วยการให้กำลังใจพร้อมกับมอบความช่วยเหลือตลอดการทำงาน ในกรณีที่พวกเขาตัดสินใจใหม่ว่าจะอยู่กับคุณ ส่วนใหญ่เหตุผลนี้มักจะเกิดขึ้นกับทีมขาย แต่ถ้าตัวเลขแย่ คุณปล่อยพวกเขาออกไปก็ได้ครับ
4. ถ้าลูกน้องลาออกเพราะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมทีมไม่ได้
การทำงานของลูกน้องจะมี “เพื่อนร่วมงาน” ที่อยู่ในระดับเดียวของพวกเขาอยู่แล้ว การมีเรื่องดราม่าหรือกระทบกระทั่งกันภายในทีมย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งถ้ามีปัจจัยเสริมบางอย่าง เช่น อายุ เพศ ประสบการณ์ การศึกษา หน้าตา นิสัย ฯลฯ เข้ามาผสมด้วย ย่อมมีเรื่อง “อคติ” ภายในทีมเข้ามาปนอยู่แน่ๆ เป็นไปได้ว่าลูกน้องของคุณกำลังประสบปัญหาดราม่าหรือการเมืองภายในทีมอยู่ และทนไม่ได้ที่จะทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นลบอีกต่อไป พวกเขาจึงขอลาออก
คุณมีทางเลือกอีกเช่นเคยครับด้วยการลงไปตรวจสอบปัญหาภายในทีมแบบเป็นกลาง การขอจัดประชุมเพื่อเคลียร์ปัญหาคาใจภายในทีมย่อมเป็นตัวเลือกที่ดี เผื่อว่าลูกน้องคุณจะตกลงกันได้ แต่ถ้าพบว่าคนที่ขอลาออกเป็น “ตัวปัญหา” ที่กระทบกับคนอื่นที่ทำงานดีภายในทีมอยู่แล้ว การปล่อยพวกเขาให้ทำงานไปเรื่อยๆ ย่อมหมายถึง “มะเร็งร้าย” ที่จะค่อยๆ ครอบงำบรรยากาศภายในทีมให้แตกแยกกันเรื่อยๆ คงไม่เป็นผลดีแน่ถ้าคิดจะเก็บหรือรั้งพวกเขาเอาไว้ การปล่อยให้พวกเขาเดินจากไปด้วยตัวเองน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาบรรยากาศการทำงานในทีมให้ดีต่อไป
5. ถ้าลูกน้องเป็นฝ่ายขอลาออกเพราะ “คุณ”
เรื่องสุดท้ายนี้เป็น “ไฮไลท์” ที่ผมอยากให้ซักครั้งนึงในชีวิตของคุณได้สัมผัสเลยก็ว่าได้ การสอบถามลูกน้องไปตรงๆ ว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการทีมของคุณ เป็นสาเหตุที่พวกเขาขอลาออกหรือไม่ ถ้าพวกเขาตอบว่าใช่ จงให้ลูกน้องได้เปิดอกคุยกับคุณตรงๆ ว่าเป็นเรื่องอะไรบ้าง เช่น การทำงานของคุณ อุปนิสัย บรรยากาศ ความสามารถ ฯลน เหตุผลพวกนี้คือ “เรื่องล้ำค่า” ที่คุณจะเก็บเอาไว้ใช้พัฒนาตัวเองต่อไปให้เป็นผู้จัดการที่ดีขึ้น ห้ามโกรธหรือทำเป็นรับไม่ได้เป็นอันขาด เพราะคนที่บอกได้ว่าคุณเป็นผู้จัดการแบบไหนได้ดีที่สุดก็คือลูกน้องของคุณเองนั่นแหละครับ ถ้าคุณเลือกจะเก็บเขาเอาไว้ จงให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงตัว แต่ถ้าปล่อยออกไปก็ไม่ผิด เพราะคุณจะเก็บเอาไว้ใช้พัฒนาตัวเองกับลูกน้องคนใหม่ต่อไปครับ
จริงๆ แล้วการลาออกของพนักงานเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับผู้ที่เป็นผู้จัดการทีมหรือเจ้าของกิจการอยู่แล้ว สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดคือการค้นหาสาเหตุว่าทำไมลูกน้องถึงขอลาออก พร้อมกับนำเหตุผลเหล่านั้นไปพัฒนาตัวเองต่อไปครับ
Comments
0 comments