สัมภาษณ์งาน 101: Tell me about yourself

พบกับบทความพิเศษจากเซลล์ร้อยล้านที่มีประสบการณ์สัมภาษณ์งานกับบริษัทยักษ์ใหญ่และเป็นผู้สัมภาษณ์คนเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ แทบจะทุกระดับ ผมมีทางออกให้คุณสำหรับทุกคำถามเพื่อให้คุณได้งานในฝันโดยเฉพาะช่วงโควิดแบบนี้ที่หางานก็ว่ายากแล้ว ได้สัมภาษณ์งานยิ่งยากกว่า ส่วนการเป็นผู้ชนะในการสัมภาษณ์งานนั้นต้องถือว่ายากที่สุด

มาเริ่มจากคำถามแรกที่บอกเลยว่าต่อให้คุณเจ๋งแค่ไหน คุณก็ยังไปไม่เป็นกับคำถามนี้อย่างแน่นอน (ฮา) ไม่เชื่อลองคอมเมนต์ให้ผมหน่อยว่าคุณจะตอบคำถามนี้ยังไงดี คำถามที่ว่านี่ก็คือ “Tell me about yourself” หรือ “ช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับคุณหน่อยครับ” ว่าแล้วควรจะเริ่มยังไงดีล่ะ

มาร่วมกันตอบคำถามนี้ให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจจากผมกันเลยครับ

1. โยนเรื่องส่วนตัวหรือชีวประวัติของคุณทิ้งไปได้เลย

ความเข้าใจผิดอย่างแรกคือ การเล่าเรื่องชีวิตของคุณตั้งแต่เรื่องประวัติการศึกษา ไล่มาจนถึงประสบการณ์การทำงานแบบทุกเม็ด อารมณ์ประมาณเคยทำงานที่ไหนก็บอกหมดว่าทำอะไร แล้วก็เล่าเรื่องส่วนตัวว่าอุปนิสัยของคุณเป็นยังไง ชอบอะไร แพชชั่นคืออะไร บลาๆ ขอบอกเลยครับว่ามันแทบไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากจะฟังเลยแม้แต่นิดเดียว คุณแทบจะหมดโอกาสได้งานบริษัทใหญ่ตำแหน่งสำคัญๆ แน่นอนถ้าพูดแต่เรื่องของตัวเองแนวชีวประวัติ จงเลิกทำสิ่งเหล่านี้เด็ดขาดและฟังผมให้ดีๆ ครับ

2. เริ่มต้นด้วยกฎ 30 วินาที กับ Keyword ที่บ่งบอกตัวคุณและเกี่ยวกับงาน 3 อย่างที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณสมัคร

นี่คือกุญแจแห่งการบอกว่าตัวตนของคุณเป็นอย่างไร แถมยังสอดคล้อง (Align) กับตำแหน่งที่คุณสมัคร และที่สำคัญคือผู้สัมภาษณ์อยากได้ยินอีกด้วยก็คือการเตรียมคำตอบที่บ่งบอกว่าคุณเป็นคนอย่างไรและเกี่ยวกับงาน โดยจะต้องเน้นเรื่องของจุดเด่น (Strength) ด้านการทำงานซัก 3 ข้อก็พอ โดยเสริมเนื้อหาให้น่าเชื่อถือขึ้นด้วยการเล่าประสบการณ์จากที่ทำงานเก่าด้วย ตัวอย่างเช่น

ผู้สัมภาษณ์: “ช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับคุณหน่อยครับ”
คุณ: “ยินดีครับ ผมแพนนะครับ ตอนนี้ผมเป็น xxx ของบริษัท xxx ซึ่งดูแลเรื่องงานขายเป็นหลัก และส่วนที่เป็นจุดเด่น (Strong point) ด้านการของผม 3 อย่าง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ

– การขายและการปิดการขาย
– การบริหารทีมขายและสร้างกลยุทธด้านการขาย
– การสอนงานและโค้ชชิ่งทีมขาย

“ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทำให้ผมมีจุดเด่นด้านการทำงานและสรุปว่าผมเป็นคนอย่างไรตามนี้ครับ”

แค่นี้ก็พอครับ คุณอาจจะเซอร์ไพรซ์ว่าทำไมให้กูพูดแค่นี้ก็พอวะ (ฮา) ผมขอบอกเลยว่านี่แหละที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เริ่มโฟกัสไปที่จุดเด่นด้านการทำงานของคุณมากที่สุด ซึ่งตอนนี้คุณมาสัมภาษณ์งานนะครับ ไม่ได้มาเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัว และมันจะทำให้คุณไปต่อได้อย่างไม่มีสะดุด

3. ถามผู้สัมภาษณ์กลับเพื่อเจาะลึกสิ่งที่พวกเขาอยากฟังที่สุด (โคตรสำคัญ)

นี่คือสุดยอดการปิดท้ายคำถามนี้ที่โคตรฉลาดสุดๆ แถมยังทำให้ผู้สัมภาษณ์มีส่วนร่วมและรู้สึกว่าคุณแตกต่างด้วยการถามคำถาม อารมณ์แบบคุณกำลังขายของลูกค้าโดยแนะนำจุดเด่นสินค้า 3 อย่างและคุณถามลูกค้ากลับว่าจากจุดเด่นที่คุณบอก ลูกค้าต้องการทราบรายละเอียดส่วนไหนเพิ่มเติมไหมครับ เพื่อให้พวกเขาคายความต้องการออกมาว่าพวกเขาสนใจสิ่งไหนและทำให้คุณรู้มากที่สุดนั่นเอง ตัวอย่างก็ง่ายๆ ดังนี้

คุณ: “จากจุดเด่นสามอย่างเกี่ยวกับตัวผมด้านการทำงาน คุณต้องการให้ผมลงรายละเอียดเรื่องไหนเพิ่มเติมไหมครับ”
ผู้สัมภาษณ์: “อืม.. ผมอยากให้คุณเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารทีมขายและการโค้ชชิ่งเพิ่มเติมหน่อยครับจากที่ผ่านมา”

นี่แหละครับคือสุดยอดการตอบคำถามที่ทำให้คุณขยายความสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยินที่สุดนั่นเอง เป็นการบีบคำถามให้เข้าประเด็น (Narrowing) ในสิ่งที่พวกเขาสนใจมากที่สุด เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เล่าเรื่องขยายความเพิ่มเติมโดยที่คุณเป็นผู้คุมเกมและทำให้ผู้สัมภาษณ์อยากฟังต่อกับสนใจคุณมากขึ้นนั่นเอง

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts