วิธีทำงานเพื่อให้ ‘ได้ใจ’ ลูกน้องอย่างเต็มที่

ผมเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานบริหารทีมขายที่มีอายุแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไล่ตั้งแต่นักขาย Gen-X (อายุ 38 ปีขึ้นไป) นักขาย Gen-Y (อายุ 30-37 ปี) และนักขาย Gen-Z (เด็กจบใหม่จนถึงวัยขึ้นเลขสาม) ซึ่งก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมได้ฝึกฝนตนเองในการเป็นผู้จัดการทีมขายที่ยอดเยี่ยมมากขึ้น

เพราะศาสตร์แห่งการบริหารคนมันเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายยิ่งนัก ถ้าคุณไม่ได้เรียนหลักสูตรด้านการบริหารจากคณะบริหารธุรกิจหรือหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการมาก่อน ผมคงพูดได้ว่าคุณอาจจะเริ่มต้นการเป็นผู้จัดการที่ไม่ดีหรือต้องใช้วิธี “ครูพักลักจำ” ซึ่งก็ไม่ผิดแต่อย่างใดเพราะคุณไม่เคยเรียนหลักสูตรหรือมีคนสอนคุณมาก่อน

ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกดึงให้มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั้งๆ ที่อายุน้อย ไม่ได้ว่าเป็นเพราะผมเป็นเทพเซลล์อะไรทำนองนั้นนะครับ แต่เป็นเพราะคนที่มอบอำนาจให้ผม “มีความเชื่อมั่น” ว่าผมเองน่าจะเป็นผู้จัดการได้ ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วผมก็ไม่มั่นใจเหมือนกันครับ (ฮา)

ในเมื่อผมได้โอกาสและคว้ามันไว้กับมือเรียบร้อยแล้ว ผมก็คงจะปล่อยให้โอกาสดีๆ เหล่านี้หลุดลอยไปก็คงเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างที่ได้รับมาก็จะต้องทำให้ดีที่สุด ผมจึงผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในการบริหารคนที่เรียกได้ว่า “แทบจะทุกเจเนอเรชั่น” กันเลยทีเดียวล่ะครับ

ผมจึงมีวิธีมาตรฐานที่ทำให้คุณได้ใจลูกน้อง ไม่ว่าพวกเขาจะมีอายุเท่าไหร่ ตำแหน่งอะไร ร้อยพ่อพันแม่แค่ไหนมาฝากกันครับ

1. เน้นการสอนงานด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ

การทำให้ลูกน้องเชื่อมั่นและยอมรับในตัวคุณกับความสามารถของคุณ ไม่ว่าลูกน้องของคุณจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดคือการทำงานที่มีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายให้พวกเขาดู โดยเฉพาะงานขายที่ทุกขั้นตอนคุณจะต้อง “ทำให้พวกเขาดูต่อหน้า” ตั้งแต่การถามคำถามที่ดี ไปจนถึงการนำเสนอที่สร้างความต้องการต่อลูกค้าได้ ช่วยพวกเขาตอบข้อโต้แย้ง รวมถึงการต่อรองเจรจาที่รักษาผลประโยชน์ระหว่างคุณกับลูกค้าด้วยดี สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเชื่อในวิธีการทำงานของคุณ ยิ่งเป็นโปรเจคที่ยากมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้ความเชื่อถือจากลูกน้องมากขึ้นเท่านั้น 

2. ชมเชยเมื่อมีโอกาสยามที่พวกเขาทำงานได้ดี

การชมเชยกับ “การอวย” ไม่เหมือนกันนะครับ การชมเชยคือการพูดหลังจากการกระทำที่คุณประเมินว่าดี เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การชมจริง เช่น ลูกค้าชมลูกน้องคุณต่อหน้า ลูกน้องคุณมีผลงานการขายที่ดี เป็นต้น การชมเชยย่อมเป็นสิ่งดีเสมอ แต่การอวยบางครั้งก็ไร้เหตุผลรองรับ ทำให้ตัวคุณขาดความน่าเชื่อถือถ้าอวยพร่ำเพรื่อ แล้วไม่ต้องคิดมากนะครับว่าชมเชยมากไปลูกน้องจะเหลิง เพราะถ้าพวกเขาเหลิง ทำงานพลาด คุณก็เปลี่ยนจากคำชมเป็นการตำหนิและเสนอแนะเท่านั้นเอง วิธีชมเชยที่ได้ผลที่สุดคือการชมเชยลูกน้องต่อหน้าทีมงานคนอื่น คนที่ถูกชมจะได้รับพลังใจที่ดีและให้ใจกับคุณมากขึ้นครับ

3. ประเมินผลงานตามจริงจากข้อมูลที่วัดผลได้

การประเมินผลงานลูกน้องจะไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินเป็นอันขาด เช่น คุณเห็นพวกเขากลับบ้านตรงเวลาทุกวันหรือกลับบ้านก่อนคุณทั้งๆ ที่หมดเวลางานตั้งนานแล้ว คุณจึงตัดสินไปเองว่าพวกเขาน่าจะไม่ทุ่มเทให้กับงาน อย่างน้อยก็ไม่เท่าคุณ เหตุผลแบบนี้ถือว่าไม่แฟร์และไม่ได้เรื่อง พวกเขาจะรับไม่ได้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จากนั้นก็เกลียดคุณและไม่ให้ใจกับคุณ ทำให้ผลงานโดยรวมของทีมห่วยลง สิ่งที่คุณควรทำเมื่อถึงเวลาประเมินผลงานพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นแบบประจำเดือนหรือประจำปี คุณจะต้องประเมินจากข้อมูลที่วัดผลได้ เช่น จำนวนนัดต่อวัน จำนวนใบเสนอราคาที่ส่ง จำนวนการติดตามงาน ไปจนถึงยอดขาย เป็นต้น พวกเขาจะยอมรับผลการทำงานตามข้อมูลครับ

4. เป็นคนรักษาคำพูดและคำไหนคำนั้น

คำพูดที่ลูกน้องเกิดความคาดหวังกับคุณก็คือคำพูดทุกคำพูดที่บ้วนออกมาจากปากคุณนี่แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่นๆ หรือเรื่องจริง โดยเฉพาะเรื่องจริงที่ค่อนข้างซีเรียส เช่น การรับปากลูกน้องในเรื่องต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องดำรงไว้ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่โกหก รักษาคำพูด พวกเขาจะไว้วางใจคุณมากขึ้น ถ้าคุณทำพลาดก็ไม่ต้องใจเสียนะครับ คำขอโทษจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งให้ดีขึ้นได้ เพียงแต่อย่าพลาดบ่อย เพราะความไว้วางใจมันเปราะบางพอๆ กับแก้วที่แตกง่ายเลยล่ะครับ

5. อย่านินทาลูกน้องให้ใครฟังเด็ดขาด

มีบ้างที่บางทีคุณก็อยากเมาท์ลูกน้อง ถ้าลูกน้องทำดีแล้วคุณเอาไปเมาท์ให้ชาวบ้านฟัง สิ่งนี้คือเรื่องที่ดีเลยล่ะครับเพราะถ้าเรื่องนี้เข้าหูลูกน้องคุณเมื่อไหร่ ลูกน้องคุณจะดีใจเป็นอย่างมาก แต่เรื่องลบๆ ที่เกี่ยวกับลูกน้องตัวเอง เช่น ความผิดพลาด เรื่องส่วนตัว นิสัยบางอย่างที่คุณไม่ชอบ อะไรทำนองนี้ จงอย่าเอาไปพูดให้คนอื่นฟังเป็นอันขาด เพื่อนร่วมงานไม่ผิดที่จะเอาเรื่องของคุณไปบอกต่อจนเข้าหูลูกน้องของคุณ คุณจะสูญเสียความเชื่อใจไปทันที ที่สำคัญคือประสานรอยร้าวแทบไม่ได้ด้วย ก้มหน้าก้มตาทำงานดีกว่ามานั่งนินทาลูกน้องนะครับ

6. รักษาพื้นที่ระหว่างเจ้านายกับลูกน้องให้เหมาะสม

การเปิดใจสนิทสนมกับลูกน้องเป็นเรื่องที่ดี แต่มากไปมันก็ไม่ดีครับ เช่น เปิดเผยทุกสิ่งให้พวกเขารับรู้โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวบางอย่าง พวกเขาอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับคุณเสมอไป แล้วก็ตัดสินว่าคุณไม่ได้ดีเหมือนตำแหน่งที่คุณได้รับ หรือถ้าสนิทเกินไปก็อาจจะทำให้พวกเขาเล่นหัวได้ ขาดความเคารพคุณ เวลาถึงยามคับขันแล้วคุณจะสั่งงานพวกเขาก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือที่ดี เจ้านายที่ดีจะต้องใช้ได้ทั้งพระเดชและพระคุณ ซึ่งจะใช้พระเดชได้ก็ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาเกรงใจนั่นเองครับ

7. เลี้ยงข้าวหรือจัดปาร์ตี้ให้ตามสมควร

ปาร์ตี้กับเลี้ยงข้าวเป็นกิจกรรมนอกเวลางานที่ดี และจะเหมาะสมอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นฝ่ายเลี้ยง เพราะถึงยังไงที่นี่ก็คือประเทศไทย น้ำใจโอบอ้อมอารีย์ของคุณที่มีตำแหน่งใหญ่กว่า อาวุโสกว่า ก็ยังเป็นที่น่าเคารพนับถือในสังคมนี้ คุณจึงสามารถหาโอกาสดีๆ ที่ซื้อใจพวกเขาได้ด้วยการเลี้ยงข้าวดีๆ หรือพาไปจัดปาร์ตี้กินเหล้า ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นรูปธรรมที่ทำให้ได้ใจลูกน้องพอสมควรเลยล่ะครับ

นี่คือวิธีการซื้อใจลูกน้องจากประสบการณ์ของผมครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น