อยากเป็นนักขายสายไอทีที่ประสบความสำเร็จ…ต้องทำอย่างไร
สำหรับในยุคปัจจุบัน คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology:IT) มีบทบาทกับภาคธุรกิจของโลกอย่างมหาศาล แทบจะทุกอุตสาหกรรมใช้ IT ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การทำกำไร ลดต้นทุน พัฒนาเรื่องการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค เป็นต้น
เรียกได้ว่าโลกทั้งใบถูกย่อเข้ามาให้เล็กลงภายใต้มือเรา แม้แต่กิจวัตรประจำวันของเราในทุกวันนี้ ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีตั้งแต่คุณเริ่มตื่นนอน ไปจนถึงก่อนนอนเลยทีเดียวครับ
“นักขายสายไอที” จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยสินค้าทางด้านไอที มีตัวเลขการซื้อขายเฉพาะในบ้านเราก็ระดับพันล้าน หมื่นล้านบาท ขึ้นไป ส่งผลให้งานด้านการขายในปัจจุบันมีตำแหน่งเซลล์ที่เกี่ยวกับไอทีมากขึ้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้ค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่นของนักขายวงการนี้ อยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียวครับ
วงการนี้มีข่าวดีคือถ้าคุณเป็นนักขายที่ประสบความสำเร็จ คุณสามารถโลดแล่นอยู่ในวงการที่มีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา สามารถทำเงินและนำความรู้การขายในวงการนี้ไปพัฒนาตัวเอง ต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ได้อีกมากมาย เรามาดูกันดีกว่าว่านักขายสายไอทีหลักๆ ประกอบด้วยวงการอะไรบ้าง
1. สายซอฟท์แวร์ – คือนักขายที่โฟกัสสินค้าที่เกี่ยวกับซอฟท์แวร์ เป็นหลัก โดยสินค้าของซอฟท์แวร์มีจุดประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ งานการผลิต ทดแทนการจ้างคน เป็นต้น เป็นสินค้าที่ “จับต้องไม่ได้” เพราะฉะนั้นความท้าทายคือการนำเสนอประโยชน์และคุณสมบัติที่เข้าใจได้ง่าย มีตัวเลขที่จับต้องได้ โปรแกรมสามารถใช้งานตามคอนเซ็ปต์ได้จริง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้งาน (User) คือยิ่งถ้าลูกค้าองค์กรมีพนักงานมาก การลงทุนก็จะสูงตาม
ตัวอย่างบริษัทที่เน้นขายซอฟท์แวร์: Microsoft, Oracle, IBM, SAS, SAP, Google, Tableu, Etc.
2. สายฮาร์ดแวร์ – คือนักขายที่โฟกัสสินค้าที่เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ เป็นหลัก ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ว่า “ฮาร์ดแวร์” แสดงว่าสินค้านั้นต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ (Server) สตอเรจ (Storage) ระบบสื่อสารและเครือข่าย (Network) เป็นต้น ซึ่งสินค้ามีลักษณะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ปฎิบัติการโดยผสานการทำงานกับซอฟท์แวร์ เพื่อสั่งการให้ฮาร์ดแวร์ทำงานได้ตามคำสั่งของมนุษย์ ในระดับองค์กร ถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ยกเว้นเทคโนโลยีแบบคลาวด์ (Cloud) ที่ผู้เสนอเป็นผู้ลงทุนระบบ ฝั่งลูกค้าไม่ต้องซื้อฮาร์ดแวร์
ตัวอย่างบริษัทที่เน้นฮาร์ดแวร์: Dell, HP, Acer, Cisco, Lenovo, Samsung, Apple, Canon, Etc.
ถ้าใครเป็นนักขายสายไอทีแล้วต้องการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวงการนี้ ขอบอกเลยว่าคุณมาถูกทางแล้ว ผมจึงมีเคล็ดลับมาฝากครับ
1. คุมเกมทีมพรีเซลล์ เอ็นจิเนียร์ (Presales Engineer) ให้ดี
ในการนำเสนองานต่อหน้าลูกค้า สินค้าในวงการนี้ต้องใช้ความรู้ที่ละเอียดของวิศวกร (Engineer) เป็นหลัก โดยตำแหน่งสำคัญที่ช่วยนำเสนอโซลูชัน (Solution) ให้กับลูกค้าจะชื่อ Presales Engineer หรือ Presales Consultant ซึ่งพวกเขามีความรู้ที่ละเอียดมาก ดังนั้นการนำเสนอจะเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ค่อนข้างยาวนาน บางทีก็กินเวลามากเกินไป ลูกค้าจะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ว่าพวกเขาจะอยากรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ส่งผลร้ายต่อการติดตามงานและความสำคัญของคุณก็จะถูกลดลงไปด้วย โทษฐานทำให้ลูกค้าเสียเวลา
ดังนั้นในฐานะที่คุณเป็นเซลล์มืออาชีพ คุณควรซักซ้อมเรื่องที่ต้องนำเสนอลูกค้ากับพรีเซลล์ให้ดีก่อน ควรเน้นการถามคำถามและนำเสนอเฉพาะสิ่งที่ตอบโจทย์หรือลูกค้าต้องการทราบจริงๆ โดยตัวคุณเองต้องหัดถามคำถามที่ดีเป็นระยะๆ ด้วย ควรเน้นให้พรีเซลล์นำเสนอโซลูชันที่ช่วยเพิ่มผลกำไร ลดต้นทุน จะทำให้การนำเสนอดีขึ้น ถ้ารู้สึกว่าใช้เวลามากเกินไปและลูกค้าเริ่มเบื่อ คุณควรตัดจบทันทีและกลับไปถามคำถามที่เกี่ยวกับงานแทน เช่น เรื่องของราคา สเปค เป็นต้น จดให้ละเอียดเพื่อกลับไปบรีฟงานกับทีมวิศวกรของคุณได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ เพราะวิศวกรเขาต้องการข้อมูลที่เป็นตัวเลข จับต้องได้ ห้ามมั่วเด็ดขาด ไม่งั้นคุณจะเสียเครดิตกับพวกเขาอีกด้วย
2. เข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจให้ได้ (Decision Maker)
สิ่งที่นักขายสายไอทีมักจะทำพลาดกันคือการใช้เวลากับบุคคลที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจมากเกินไป ทำให้การนำเสนอหรือติดตามงานของคุณเสียเวลามาก โดยเฉพาะ “การนำเสนอทางด้านเทคนิคกับลูกค้าระดับ User/Operation” ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ แต่ส่วนมากที่คุณได้รับกลับมาคือ “คำถาม” เชิงเทคนิคจากลูกค้าที่พร้อมจะดาหน้าถามคุณจนคุณหงายหลัง เพราะลูกค้าระดับผู้ใช้งานต้องการข้อมูลที่ช่วยให้พวกเขา “ลดความเสี่ยง” ต่อการนำเสนอหัวหน้าของเค้าด้วย
หรือถ้าคุณโชคร้าย บางทีเรื่องที่คุณพยายามตอบคำถาม ช่วยเหลือทั้งหมดอาจจะไม่ถูกส่งไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจก็เป็นได้ และการนำเสนอที่ผ่านมาอาจจะเป็นสิ่งที่บุคคลระดับ Director หรือ CIO นั้นไม่ต้องการเลย จงพยายามนัดคุยกับระดับ C-Level ให้ได้ โดยใช้เวลาให้น้อย ถ้าคุณใช้เวลามากมาตั้งแต่แรก โอกาสที่คุณจะได้ทำนัดกับ C-Level จะมีน้อยมาก เพราะพวกเขาจะมองว่าเสียเวลา ไหนจะต้องคู่แข่งของคุณอีกซึ่งใช้เวลามากพอๆ กัน ดังนั้นผมจึงย้ำเสมอว่าตั้งแต่การทำนัด นำเสนอ ควรใช้เวลาให้น้อย เน้นเนื้อๆ คุมเกมพรีเซลล์ให้ได้ ผลที่ตามมาคือคุณจะถูกดันให้ได้นัดกับ C-Level ได้ง่ายขึ้น
3. ค้นหาลีด (Lead) ที่ใช่ให้แม่นยำด้วย Linkedin.com
ลีดที่ดีจะนำตัวเลขมาสู่กระเป๋าคุณได้ คุณควรทำความเข้าใจกับคุณสมบัติ ประโยชน์ มูลค่าของสินค้าให้ละเอียด เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้งานสินค้าแต่ละแบบอาจจะเหมาะกับบางธุรกิจ ธุรกิจที่ต้องลงทุนทางด้านไอทีจะเป็นลีดที่สำคัญของคุณ ช่น ธุรกิจการเงิน ธุรกิจด้านการสื่อสาร เป็นต้น คุณควรทำการบ้านหาข้อมูลเรื่องลีดโดยเรียงตามส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นหลัก (ง่ายๆ คือลูกค้าคนไหนรวย ก็เข้าไปขายคนนั้นก่อน) การใช้ Linkedin.com เพื่อหาชื่อ ตำแหน่ง ผู้ติดต่อ ควรเป็นระดับ IT Manager, IT Director ไปจนถึง CIO จะทำให้ลีดของคุณค่อนข้างโซลิด (Solid) และลดเวลาในการหาคนที่ใช่มากขึ้น
โทรทำนัดกับลูกค้าใหม่ๆ วันละ 20-30 สายซะ คู่แข่งจะไม่มีทางไล่ตามคุณทันได้แน่นอน คุณมีโอกาสเป็นท็อปเซลล์มากๆ เลยล่ะครับ เพราะนักขายวงการนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบเฝ้าเจ้าที่ (Account Based) คือหวงลูกค้ารายใหญ่จนไม่มีเวลาหาลูกค้ารายใหม่ นั่นแหละครับ โอกาสโกยเงินของคุณเลย ลูกค้ายังมีอีกเยอะแยะ อย่ายึดติดกับคำว่าธุรกิจธนาคาร การสื่อสาร ขนาดใหญ่มากจนเกินไป มองหาโอกาสใหม่ๆ ให้ออกอยู่เสมอ
4. เน้นการนำเสนอประโยชน์ของสินค้าที่ช่วยในเรื่องการเพิ่มกำไร ลดต้นทุน เป็นหลัก
สินค้าไอที เป็นสินค้าทางด้านเทคนิคอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องพวกนี้คุณสามารถส่งสไลด์จากทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Vendor) ซึ่งมีข้อมูลเป็นปึกๆ ยาวเป็นกิโลให้ลูกค้าทีหลังก็ได้ครับ จะได้ไม่เสียเวลาและทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าเบื่อ
สิ่งที่คุณต้องเน้นในการนำเสนอระดับผจก. ไปจนถึง C-Level คือข้อมูลที่ตัวสินค้ามีคุณสมบัติในการสร้างประโยชน์ที่เกี่ยวกับตัวเลขให้ได้ เช่น ทำให้ลดการจ้างคนลงได้ประมาณกี่ xxx บาท ลดต้นทุนการซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมถึง xxx บาท ลดค่าไฟ พื้นที่ ลดงาน ลดเวลา เพิ่มปริมาณงาน พนักงานทำงานได้ดีขึ้น ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ควรพูดและเป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ยินครับ นำเสนอเรื่องพวกนี้จะทำให้งานคืบหน้าและน่าสนใจมากขึ้น
5. ติดตามงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
เนื่องจากสินค้าหรือโครงการบางอย่างต้องใช้งบประมาณการจัดซื้ออย่างมหาศาล เวลา เป็นสิ่งที่สำคัญในการพิจารณาคู่เทียบ ความเสี่ยง ประโยชน์ ฯลฯ ที่จะเกิดขึ้นหลังการลงทุน ดังนั้นเป็นไปได้มากว่าการนำเสนอจะต้องใช้เวลาพอสมควร สิ่งที่คุณควรทำคือการถามคำถามช่วงที่ลูกค้าต้องการใช้สินค้า เพื่อวางแผนติดตามงานอย่างเป็นระบบ โดยการติดตามงานจะเป็นเรื่องที่ทำให้งานคืบหน้าไปได้ดีขึ้น เช่น การเดโม่สินค้า ทำงบ ปรับสเปค ออกแบบระบบ ต่อรองเจรจา ฯลฯ ซึ่งคุณควรทำอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาลูกค้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความเป็นมืออาชีพและความไว้วางใจในตัวคุณอย่างมหาศาล พร้อมกับทำให้งานมีความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะได้พบผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือรับทราบข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับงบ คู่แข่ง ก็จะสูงขึ้นด้วย
6. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางการขายนอกเวลางาน
ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ แต่ผมไม่แนะนำโดยเฉพาะตอนที่ยังไม่ได้งานกับลูกค้าเพราะเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เสียเงินอีกต่างหาก ถ้าคุณคิดว่าการพาลูกค้าไปกินเหล้า ตีกอล์ฟ ลงอ่าง หรือแม้แต่เงินใต้โต้ะ เป็นสิ่งที่ทำให้คุณขายงานโครงการได้ ผมขอบอกเลยว่าคุณกำลังคิดผิด เพราะส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมภาคธุรกิจ บุคคลระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือ C-Level นั้นจะไม่ค่อยเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ เพราะเวลาของพวกเขานั้นมีค่ามากๆ และพวกเขาไม่อยากเปลืองตัวกับเรื่องสกปรกแบบนี้เด็ดขาด
ส่วนใหญ่ภายในองค์กรคนที่ (อาจจะ) เรียกร้องสิ่งเหล่านี้มักจะมีอำนาจน้อยกว่าระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือเป็นระดับ Influencer ซึ่งคุณสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้ด้วยการนัดพบกับ C-Level หรือป๋าดันคนอื่นๆ แทน จะทำให้คุณหลีกเลี่ยงเกมเหล่านี้ไปได้มากครับ ปัจจัยที่ทำให้คุณขายได้คือ ประโยชน์และความน่าเชื่อถือเท่านั้นครับ เงินใต้โต้ะหรือกิจกรรมนอกเวลางานมีผลน้อยมากหรือไม่มีเลยด้วยซ้ำไปครับ ที่สำคัญคือคุณจะได้เอาเวลาหลังเลิกงานไปพัฒนาตัวเองด้านอื่นด้วยครับ ลูก เมีย คุณก็มี แบ่งเวลาให้ดีครับ อย่าบ้างานมากเกินไป
7. เป็นผู้ทำให้ลูกค้าเกิดความต้องการซื้อสินค้าตั้งแต่แรกซะ
เป็นธรรมดาที่การขายแบบ B2B ยิ่งถ้ามีมูลค่าสูงแบบสินค้า IT คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกครับที่ต้องเจอคู่แข่งและเป็นคู่เทียบกับคุณ ในวงการนี้จะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การล็อกสเปค” ซึ่งถ้าคุณมาทีหลัง คุณอาจจะตีอกชกลม โทษสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าคุณมันช่างโชคร้าย มาทีหลัง คู่แข่งเส้นใหญ่ ซี้กับลูกค้า (คุ้นๆ มั้ยครับ ฮา..) ซึ่งจริงๆ แล้วคุณลืมโทษตัวเองว่า “เป็นเพราะคุณมาทีหลังและคู่แข่งมาสร้างความต้องการให้ลูกค้าก่อน” พวกเขาจึงคุมเกมได้ วางสเปคได้ เพราะลูกค้าอยากซื้อสินค้าของคู่แข่ง ไม่ใช่คุณยังไงล่ะครับ
สิ่งที่คุณควรทำคือการหาลีดใหม่ๆ บุกตะลุยเข้าไป ถึงแม้ว่าลูกค้าจะไม่มีความต้องการเลยก็ตาม การโทรทำนัดที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความต้องการให้กับลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง ถ้าคุณได้นัดและนำเสนอให้ดี คุณมีโอกาสเริ่มทำโครงการร่วมกับลูกค้าได้เลย ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาแต่สิ่งที่คุณวางไว้จะเป็นเกมของคุณโดยทันที คุณมีโอกาสชนะสูงมากและได้รับสิทธิ์การลงทะเบียน (Register) ก่อนคู่แข่ง ในกรณีที่บริษัทของคุณไม่ใช้เจ้าของเทคโนโลยี (Vendor) เป็นธุรกิจที่ปรึกษาและติดตั้งระบบ (SI:System Integrator) คุณลงทะเบียนและอัพเดทสถานะของลูกค้าให้เวนเดอร์ของคุณทราบ พวกเขาจะลงทะเบียนคุณและให้สิทธิ์ในการจำหน่ายที่ดีที่สุดกับคุณ เช่น ราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง การสนับสนุนจากทีมขายและวิศวกรจากเวนเดอร์ เป็นต้น คุณจะได้เปรียบมากๆ ครับ
8. อย่ามัวแต่นั่งเฝ้าลูกค้าเกรดเอของคุณอย่างเดียว
สิ่งที่นักขายไอทีมักจะทำพลาดคือการใช้เวลากับลูกค้าเกรดเอที่ทำเงินให้กับคุณอย่างสม่ำเสมอมากเกินไป บางทีคุณอาจจะโชคดีเพราะเจ้านายคุณสั่งให้คุณดูลูกค้ารายใหญ่ที่ลงทุนทางด้านไอทีอย่างมหาศาล ทำให้คุณได้รับตัวเลขตามเป้า หรือบางทีเกินเป้าจนเป็นพระเอกของบริษัทเลยด้วยซ้ำ เมื่อตัวเลขคุณถึงเป้าในแต่ละควอเตอร์ (Quarter) คุณก็จะเริ่มชิลๆ ยิ้มอ่อนๆ หล่อๆ เริ่มไม่ขายอะไรเพิ่มเติม ผมบอกเลยว่าคุณกำลังทำพลาดอย่างใหญ่หลวงเลยครับ
สิ่งแรกที่คุณพลาดคือ คุณกำลังสร้างความเสี่ยงกับตัวเองอย่างมหาศาล การที่ลูกค้ารายใหญ่ทำเงินให้คุณสม่ำเสมอ ทำให้คุณเริ่มทุ่มแรงกายไปกับการเข้าพบลูกค้าแทบจะทุกระดับในองค์กรนั้น ทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยที่บางทีอาจจะไม่มีประโยชน์กับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้วยซ้ำ ตัวเลขเข้ามามากก็จริง แต่คุณเองจะไม่มีเวลาหาลูกค้าใหม่เลย ความเสี่ยงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นระดับมหภาพเช่นการเมือง สภาพเศรษฐกิจ เมื่อใดที่ต้องตัดงบ ฝ่ายไอทีจะโดนเป็นฝ่ายแรก โปรเจคในมือคุณอาจจะถึงขั้นแท้งได้เลย แล้วยอดของคุณจะไม่มีเหลือ คุณจะไม่มีไปป์ไลน์ใหม่ๆ คอยเป็นเบาะเซฟเก้าอี้คุณได้อีก จากฮีโร่ กลายเป็น ซีโร่ได้เลยครับ
สิ่งต่อมาที่คุณพลาดคือ โอกาสในการขายเพิ่ม เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับลูกค้ารายใหม่ๆ บางทีบริษัทคุณมีเทคโนโลยีมากมาย น่าสนใจ ซึ่งต่อยอดหน้าที่การงานใหม่ๆ ให้คุณได้มาก เช่นถ้าคุณขายฮาร์ดแวร์เป็นหลัก คุณอาจจะลองขายซอฟท์แวร์ของบริษัทบ้างกับตลาดใหม่ๆ เพราะอย่างที่บอกคือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไวมาก บางทีตกรุ่นแล้วแต่คุณไม่รู้จักเรียนรู้สินค้าแบบอื่นๆ คุณจะกลายเป็นเซลล์ไอทีตกยุคทันที โดนเด็กรุ่นใหม่แซงไปแบบไม่เห็นฝุ่น จงเปิดใจเรียนรู้ตลาด สินค้า และค้นหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอนะครับ เราต้องหิวอยู่ตลอดเวลา
9. การขายสินค้าไอทีคือการขายโซลูชัน ไม่ใช่รายการ TV Direct
เลิกซะกับการหลับหูหลับตานำเสนอลูกค้าตั้งแต่ Company Profile ยาวเหยียด พูดสไลด์ทางเทคนิคของสินค้าที่มีตัวหนังสือยุ่บยั่บ ยาวระดับ 20-30 หน้า แถมผู้นำเสนอยังเป็นวิศวกรที่คุยภาษาไอทีได้แบบต่อยหอย แต่กลับคุยภาษาคนไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครเบรกเขาได้นอกจากคุณที่เป็นเซลล์เท่านั้น คุณมาขายสิ่งที่เรียกโซลูชั่นนะครับ ไม่ใช่การโม้แต่เรื่องสินค้า ต้องระวังเรื่องนี้ให้ดี
สิ่งที่คุณควรทำคือการถามคำถามที่ดี สิ่งที่ถามควรเป็นคำตอบของลูกค้าที่โยงไปหาข้อดีของคุณสมบัติของสินค้าคุณ เช่น การใช้งานปัจจุบัน ระยะเวลา ค่าไฟ งบประมาณ ประสิทธิภาพ เป็นต้น หรือแม้แต่ถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรณีที่เกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ดี ลูกค้าจะทำอย่างไรบ้าง เป็นการสร้าง Pain Point ให้เค้าตระหนักถึง พอถึงเวลานำเสนอ คุณจะได้เลือกสิ่งที่มีประโยชน์และช่วยลูกค้าจริงๆ สิ่งเหล่านี้แหละครับที่เรียกว่าการนำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า หรือทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น
บทความวันนี้ยาวมากกก มากที่สุดตั้งแต่เขียนมาเลยครับ ผมมั่นใจว่าเป็นประโยชน์กับนักขายทีอยู่ในวงการไอทีแน่ๆ วงการอื่นก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ รบกวนกดไลค์ กดแชร์ แท็กให้เพื่อนที่เป็นนักขายไอทีด้วยนะครับ จะได้ประโยชน์ต่อสังคมอย่างมหาศาลเลย
Comments
0 comments