ระดับโลกเขากระตุ้นทีมขายอย่างไร
การกระตุ้น (Motivation) เป็นสิ่งที่คุณต้องทราบดีอยู่แล้วว่ามันมีความสำคัญมากแค่ไหน ไม่ว่าคุณจะทำงานในระดับใดก็ตาม ไล่ตั้งแต่ลูกกระจ๊อก ไปจนถึง CEO หมื่นล้าน ตราบใดที่คุณทำงานร่วมกับคนอื่น และตัวคุณเองก็เป็นมนุษย์ สิ่งที่ควบคุมยากที่สุดและทำให้คนเรามีประสิทธิภาพแตกต่างกันก็คือ “เรื่องหัวใจ” นี่แหละครับ
ไม่ต้องคิดไปไหนไกล เอาแค่ตอนคุณดูบอลแล้วครึ่งแรกทีมรักของคุณเล่นได้ห่วยมาก แต่พอกลับมาตอนครึ่งหลัง ปรากฎว่าผู้เล่นวิ่งกันเป็นม้า แถมยังพลิกเกมกลับมายิงประตูก่อนหมดเวลาได้อีกด้วย แสดงว่าช่วงพักครึ่ง ผู้จัดการทีมของพวกเขาต้องพูด (หรือว้ากใส่) พร้อมกับกระตุ้นให้ผู้เล่นกลับมาสู้ พวกเขาจึงเล่นกันแบบลืมตายได้
การกระตุ้นการทำงานของพนักงานในองค์กรจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก พวกเขาย่อมมีวันที่ฟอร์มร้อนแรงและฟอร์มตกเป็นธรรมดา ต่อให้เป็นพนักงานตัวท็อปที่ทำงานดีก็สามารถมีปัญหาด้านการทำงานได้เช่นกัน ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากคุณเอง ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร ฯลฯ ทุกคนคือมนุษย์ที่สร้างการกระตุ้นหรือทำให้หมดกำลังใจต่อกันและกันได้ทั้งนั้น
ดังนั้นคุณเองในฐานะผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการจะต้องไม่มองข้ามความสำคัญของการกระตุ้นทีมงานเป็นอันขาด วันนี้จึงขอมอบความรู้ระดับโลกที่ได้มาจากศาสตราจารย์ที่ศศินทร์มาฝากกันครับ
1. กระตุ้นการทำงานด้วยการมอบรางวัล (Motivation Through Rewards)
เป็นการกระตุ้นคนทำงานที่จับต้องได้มากที่สุด ทำดีก็ต้องได้ดี แล้วมันจะดีกว่านั้นถ้าคุณทำอะไรให้พวกเขารู้สึกว่ารางวัลที่คุณมอบให้มันมีค่ากับพวกเขาจริงๆ เพื่อเป็นการตอบแทนลูกน้องที่ให้ใจคุณอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่าเห็นลูกน้องทำงานดีแต่ไม่เคยทำอะไรแม้แต่การเดินเข้าไปชมเชย ลูกน้องก็ไม่เห็นว่าสิ่งที่ทำไปมันมีค่ากับคุณหรือพวกเขามากแค่ไหน กำลังใจที่มีก็เลยถดถอยเพราะหัวหน้าห่วยๆ มักจะไม่ค่อยชมเชยผู้อื่น แต่ต้องการเอาผลงานมาไว้กับตัวเพียงคนเดียว ลูกน้องดีๆ เลยไม่อยากทำงานด้วย หมดกำลังใจ ลาออกไปทำงานที่อื่นด้วยซ้ำ
การมอบรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
– รางวัลประเภท “ของนอกกาย” (Extrinsic Rewards)
เงินทอง บ้าน รถ ฯลฯ พวกนี้ก็คือ “ของนอกกาย” ตายไปก็เอาไปไม่ได้ (ฮา) ก็นั่นแหละครับท่านผู้อ่าน วิธีนี้คือการมอบรางวัลเพื่อกระตุ้นการทำงานของทีม ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าหรือสิ่งที่มีมูลค่า ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น มอบเงินพิเศษให้กับพนักงานดีเด่นประจำปี มอบไอแพด ไอโฟน ตั๋วเครื่องบินท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ
ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ “มองเห็นแต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น” (งงไหม) แต่จับต้องได้ นั่นคือการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติพนักงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวที มอบเกียรติบัตร ติดป้ายประกาศพนักงานดีเด่นแบบที่เอ็มเคชอบทำ (ฮา) เปลี่ยนนามบัตรพวกเขาเพื่อ “เลื่อนขั้นหรือเลื่อนตำแหน่ง” เป็นต้น นี่คือสิ่งที่จับต้องได้แบบสุดๆ และพนักงานทุกคนย่อมอยากได้รับเกียรติอันสูงส่งแบบนี้ พวกเขาทำงานลืมตายมากขึ้นแน่นอน
– รางวัลประเภท “ปัจจัยในกายหรือปัจจัยภายใน” (Intrinsic Rewards)
รางวัลแบบนี้เป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้และต้องใช้จิตวิทยาของผู้นำในการสื่อสารกับลูกน้อง พูดง่ายๆ ก็คือใช้สกิลปากในการกระตุ้น ชมเชย ปลุกใจ สร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจอะไรทำนองนั้น ดังนั้นคนที่เป็นหัวหน้างานจะต้องเป็นนักพูดที่เก่งเรื่องการเลือกใช้คำพูดที่กินใจ ซาบซึ้งใจ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกภาคภูมิใจ สู้ตาย เป็นต้น ถ้านึกไม่ออกก็ลองเอาเพลงพี่ตูน บอดี้แสลม ชื่อเพลง “ความเชื่อ” ไปเปิดซ้ำๆ ให้ลูกน้องคุณฟังหลายๆ รอบก็ได้ครับ (ฮา)
การมอบรางวัลต่างๆ จะต้องมอบหลังจากพนักงานมีผลลัพธ์ตามที่คุณตั้งใจไว้ เช่น มอบรางวัลให้กับนักขายที่ทำยอดได้เกินเป้า มอบรางวัลพนักงานดีเด่นจากแบบฟอร์มการประเมินจากหลายๆ ฝ่ายที่มีดัชนีวัดผลการทำงาน (KPI) มากกว่า 120% เป็นต้น และที่สำคัญคือรางวัลที่ให้จะต้องเป็นสิ่งที่สร้างความพอใจให้พนักงานด้วย เช่น พนักงานได้รับรางวัลดีเด่นแต่คุณกลับมอบแค่พัดลม หม้อหุงข้าว หรือสินค้ากระจอกๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไร้ค่า และที่สำคัญคือเมื่อมอบอะไรให้ใครไปแล้ว คุณต้องประกาศให้โลกรู้เพื่อเชิดชูพนักงานของคุณให้ทุกคนทราบด้วย
2. กระตุ้นการทำงานด้วย “การมีส่วนร่วม” ของพนักงาน (Motivation through Employee Participation)
เป็นวิธีการทำให้พนักงานของคุณทำงานกันเป็นทีมแบบมีเป้าหมาย มีอำนาจในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น มีส่วนร่วมในการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น พวกเขาจะมีความภาคภูมิใจและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก วิธีการมีดังนี้
– Participative Management เป็นกระบวนการที่ทำให้พนักงานวิเคราะห์และคิดแผนการที่จะทำให้การทำงานของตนเองหรือองค์กรดีขึ้น ขั้นตอนที่คุณควรให้พวกเขาช่วยกันคิดค้น ก็คือ การตั้งเป้าหมายใหม่ การตัดสินใจเลือกแผนการทำงาน การแก้ปัญหา และการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มีวิธีการสร้างการจัดการในรูปแบบนี้ 2 วิธีด้วยกัน
2.1 Open-Book Management (OBM)
เป็นวิธีที่คุณจะเปิดข้อมูลลับด้วยงบการเงินของบริษัทในส่วนของกำไร ขาดทุน ต้นทุน ฯลฯ ให้กับทีมงานที่รับผิดชอบในแต่ละฝ่าย แล้วก็ให้ความรู้พวกเขาว่าการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาในงานส่วนใดๆ จะส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งด้านบวกและด้านลบได้อย่างไรบ้าง จากนั้นก็ให้พวกเขาลองคิดค้นไอเดียที่จะทำให้ตัวเลขด้านการเงินของบริษัทดีขึ้น
2.2 ให้พนักงานสร้างทีมด้วยตนเอง (Self-Managed Team)
เป็นวิธีที่องค์กรระดับโลก โดยเฉพาะธุรกิจไอที สตาร์ทอัพ เขาใช้กัน นั่นก็คือการมอบอำนาจให้พนักงานที่ฟอร์มดีได้โชว์ฝีมือบนเวทีใหม่ เช่น ให้พวกเขากำหนดทีมงานในการพัฒนาโครงการใหม่ มีส่วนร่วมในการคัดพนักงานเข้าทีมด้วยตนเอง มีงบประมาณให้พวกเขาละลายเล่น (ฮา) ส่วนคุณเองก็คอยเฝ้าดูหรือเข้าไปจัดการบ้าง เป็นต้น วิธีนี้จะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานตัวท็อปได้โชว์ฝีไม้ลายมือเพื่อองค์กรอย่างเต็มที่และทำให้พวกเขาลาออกจากคุณยากขึ้นด้วยครับ
3. กระตุ้นด้วยคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น (Motivation Through Quality-of-Worklife Programs)
ถึงแม้ว่ารางวัลของคุณมีมูลค่าสูง ราคาแพง มากแค่ไหน แต่ทุกอย่างจะไร้ประโยชน์ถ้าพนักงานยังต้องทนทำงานในสภาพแวดล้อมห่วยๆ ไม่มีความยืดหยุ่น บรรยากาศไม่น่าทำงาน อารมณ์แบบทำงานในโรงงานนรก คุณจึงต้องสร้างโปรแกรมกระตุ้นการทำงานของพนักงาน สร้างความสุขและเป็นการรักษาพนักงานไม่ให้ลาออกไปพร้อมๆ กัน ตัวอย่างเช่น
– ปรับตารางตอกบัตรให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น อยากเข้างานตอนเที่ยงก็ทำได้ แต่ต้องตอกบัตรออกงานหลังสองทุ่ม เป็นต้น ซึ่งองค์กรสมัยใหม่ได้ใช้กับเด็กรุ่นใหม่ ทำให้ไม่ต้องแหกขี้หูขี้ตามาทำงานตอนรถติดๆ อีกต่อไป นอกจากสภาพจิตใจจะย่ำแย่แล้ว ไอ้เรื่องเข้างานช่วงเช้าแล้วต้องตอกบัตรนี่แหละที่ทำให้พนักงานเบื่อชีวิตลูกจ้าง แล้วพวกขายตรงมักจะชอบพูดว่าชีวิตกูไม่ต้องทำงานตอกบัตรแล้ว อะไรทำนองนี้ คำพูดพวกนี้มันบั่นทอนชีวิตเหลือเกิน ซึ่งระบบนี้จะเอื้อให้กับพนักงานจอมขยันที่อยากทำโอทีจนถึงเที่ยงคืนได้อีกด้วย จ่ายเงินตามจริงแบบไม่ต้องตอกบัตร
– สวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น
จะดีกว่าไหมถ้าสำนักงานของคุณทำให้พวกเขามีความสุขมากยิ่งขึ้นนอกจากการทำงาน สุขภาพของพวกเขาก็สำคัญเช่นกัน จงลองเช็คดูว่าองค์กรของคุณสามารถเพิ่มสวัสดิการที่มีประโยชน์กับพวกเขาได้มากแค่ไหน เช่น คอร์สฟิตเนส กินคลีน ทำฟัน มีมุมเล่นกีฬา ฯลฯ
– เพิ่มสวัสดิการด้านการลาของพนักงานให้มากขึ้น
เช่น เพิ่มวันลาแบบไม่จ่ายค่าตอบแทน (Paid time off) เพื่อให้พวกเขาได้ชาร์จแบตอย่างเต็มที่ เพราะยุคนี้การลาเพียงแค่ 15 วันต่อปีอาจไม่เพียงพอ คุณเลยให้วันลากับพวกเขาแบบแฟร์ๆ ด้วยการไม่จ่ายค่าตอบแทนถ้าพวกเขาต้องการลางานมากขึ้น เป็นต้น
นี่คือวิธีการกระตุ้นหรือจูงใจพนักงานในองค์กรตามแบบฉบับของบริษัทระดับโลกจากผมครับ
Comments
0 comments