สร้างบารมีเพื่อทำให้คุณเก่งคน ด้วยวิธีนี้

ว่ากันว่าคนที่ได้รับการโปรโมตเป็น “หัวหน้า” ส่วนใหญ่มักจะถูกดึงมาจาก “ความเก่งงาน” ซึ่งเว้ากันซื่อๆ คือถ้างานไม่ได้เรื่อง โอกาสได้ขึ้นเป็นนายคนก็คงมีได้แค่เป็นเด็กเส้น หรือไม่ก็เกิดมาเป็นลูกเทพ ลูกประธานบริษัทแค่นั้นเลยครับ

ดังนั้นการ “เก่งคน” และเก่งงานพร้อมกันไปด้วยย่อมทำให้คุณเป็นหัวหน้างานที่ประสบความสำเร็จ ใครที่กำลังเป็นหัวหน้ามือใหม่หรือค้นหาตัวเองให้ลูกน้องมีศรัทธา ลองทำตามผมด้วยวิธีนี้เลยครับ

1. ต้องทำให้เด็กมันดูได้

ยุคนี้ขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้เลย ความศรัทธาตามตำแหน่งงานที่ทำให้ลูกน้องเชื่อมั่นมากที่สุดก็คือคุณต้องโชว์เด็กให้ดูจากของจริงได้ เช่น เป็นหัวหน้าฝ่ายขายก็ต้องปิดการขายเป็นแบบเฉียบขาด เป็นหัวหน้าช่างก็ต้องมีประสบการณ์ในการลงมือทำหน้างานจริง เป็นต้น ยิ่งงานยากมากเท่าไหร่ ความศรัทธาและนับถือย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวแน่นอน

2. สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าคุณเป็นคนเย็นชา ไม่ค่อยสื่อสารพูดคุยกับลูกน้อง หรือเข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้ เก่งแต่ทำงานต่อหน้าอย่างเดียว บอกตามตรงว่า “รอดยาก” ครับ ดังนั้นคุณต้องชัดเจนเรื่องสิ่งที่คุณต้องการ ความคาดหวัง สอบถาม Feedback และตั้งใจฟังลูกน้องอย่างจริงใจ จับใจความให้ดี มีความโปร่งใสไม่เล่ห์เหลี่ยม หัวใจของเรื่องนี้คือการสอบถามสิ่งที่ลูกน้องกังวลหรือไม่กล้าถาม ถ้าคุณเปิดใจฟังดีๆ รับรองว่าได้ใจมากเลย

3. พัฒนาทักษะในสิ่งที่ทำอยู่เสมอ

อย่าชะล่าใจว่าเป็นหัวหน้าแล้วก็เลยหยุดพัฒนา คุณต้องเพิ่มความเชี่ยวชาญในสิ่งที่คุณทำให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อปริญญาระดับสูง การเข้าคอร์สพัฒนาตนเอง การหมั่นอัพเดทความรู้ในวงการให้ทันโลก ฯลฯ ความเก่งที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความมั่นใจในตัวคุณจากสายตาของลูกน้องเป็นอย่างมาก

4. สนับสนุนการทำงานเป็นทีม

หมดยุคที่คุณเก่งแล้วจะฉายเดี่ยวแล้ว หรือพวกเอาแต่สั่งงานบนหอคอยงาช้างก็ไม่รอดแน่นอน การทำงานต่อจากนี้ต้องมีคำว่าทีมเวิร์ก ได้ใจแบบสุดๆ คือการลงไปคลุกฝุ่น ลงหน้างานร่วมกับลูกน้องทุกกรณีเท่าที่จะเป็นไปได้ สนับสนุนทีมงานให้ทำงานง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก อำนาจและสิทธิพิเศษบางอย่าง รวมถึงปกป้องทีมก่อนเสมอในยามที่พวกเขาทำพลาด

5. มีความรับผิดชอบต่อคำพูดและการตัดสินใจ

เปรียบได้กับคำว่ากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ เพราะการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยเฉพาะการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ย่อมทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ ถ้ามีข้อผิดพลาดจากการตัดสินใจของคุณเองเกิดขึ้นต้องกล้ารับผิดและรับชอบ รวมถึงหาวิธีการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ กล้าทำก็กล้ารับ ไม่มีลูกน้องคนไหนไม่ชอบคุณในเรื่องนี้หรอกครับ

6. แสดงความเห็นอกเห็นใจและความเคารพลูกน้อง

เวลาลูกน้องมีปัญหา อย่าพึ่งรีบตัดสินว่าพวกเขาห่วยหรือไม่ได้เรื่องนั่นเอง ลองคิดเสมอว่าถ้าคุณเป็นลูกน้อง การสั่งงานบางอย่างอาจจะมีความเครียดหรือเกินความสามารถ ลูกน้องไม่ได้มีประสบการณ์หรือเก่งเท่าคุณ ดังนั้นคุณต้องเข้าใจพวกเขาและให้ความเคารพ ปฎิบัติกับลูกน้องด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม ถ้าคุณทำเหมือนคนสมัยก่อนที่เอาแต่สั่ง ด่า หรือเหยียดหยามลูกน้อง คุณเอาตัวไม่รอดแน่นอน นอกจากนี้ยังต้องกล้าเปิดใจและเข้าถึงเรื่องส่วนตัวของลูกน้องตามสมควร

7. ชมเชย มอบรางวัล ให้ลูกน้องที่ทำดีและเป็นที่จดจำ

เรื่องพื้นฐานสำหรับคนทำดีก็คือการชมเชยด้วยความจริงใจ ทำให้มันยอดเยี่ยมกว่านั้นถ้าพวกเขาทำงานได้ดีและสมควรได้รับรางวัล โล่ห์ หรือโบนัสประจำปีเพื่อให้พวกเขาเป็นที่จดจำ วิธีนี้ถือว่าคุณนับถือพวกเขาแบบจับต้องได้ ที่สำคัญคือสามารถรักษาพนักงานฝีมือดีให้อยู่กับคุณไปนานๆ ได้ด้วย

8. เป็นกันเองและเข้าถึงง่าย

ยืนอยู่พื้นเดียวกัน ไม่มีใครสูงหรือต่ำกว่า อย่าทำตัวแปลกแยก เจ้ายศเจ้าอย่าง ดูทรงแล้วลูกค้าเกรงใจจนไม่กล้าเข้าถึง ยิ่งสังคมไทยมักให้ความสำคัญกับลำดับ ตำแหน่ง หรือความอาวุโส ธรรมชาติของลูกน้องจึงไม่กล้าเข้าหาคุณมากนัก ดังนั้นจงเป็นฝ่ายเริ่มเข้าหาลูกน้องด้วยความเป็นกันเอง ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมองว่าคุณไม่ได้มีเล่ห์เหลี่ยมอะไร รับรองว่าเข้าไปนั่งในใจลูกน้องได้แน่นอน

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts