ทำอย่างไรให้ลูกน้องรัก

วันนี้เป็นวันที่ผมดีใจเป็นอย่างมากเพราะน้องๆ ผู้จัดการได้บอกกับผมว่าลูกน้องนับสิบชีวิตนั้น “รักผมทุกคน” ที่สำคัญคือไม่มีใครนินทาลับหลังผมเลย พวกเขาบอกอีกว่าไม่ได้พูดเอาใจผมแน่นอนครับ ความชื่นใจเหล่านี้แหละที่เป็นกำลังใจสำคัญว่าผมนอกจากจะทำให้ลูกน้องทุกคนประสบความสำเร็จในอาชีพนักขายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่วัดว่าคุณเป็นเจ้านายที่ยอดเยี่ยมก็คือความรักของลูกน้องที่มีต่อคุณนั่นแหละครับ

แน่นอนว่าถ้าลูกน้องรักคุณนั้น คงไม่ต้องบอกว่าการทำงานของคุณจะราบรื่นมากแค่ไหน ลดปัญหาการลาออกไปได้โดยพลัน หรือยามวิกฤติก็สามารถสั่งลูกน้องให้หายอดตามแผนการขายได้เกินขีดจำกัดเสียด้วยซ้ำไปครับ ข้อเสียนั้นผมบอกเลยว่าไม่มี จะมีก็แค่ถ้าผมเปลี่ยนงานไป ลูกน้องคงเสียดายและคิดถึงกับกลัวเจ้านายเก่าจะทำงานได้ไม่เจ๋งเท่าผมมากกว่า (ฮา)

1. ฝึกทักษะภาวะผู้นำ (Leadership Skills) และนำมาปรับใช้ทันที

ภาวะผู้นำไม่ได้หมายถึงมีตำแหน่งสูงๆ แล้วจะมีทักษะนี้หรือค่อยเรียนรู้นะครับ คุณสามารถเริ่มได้ทันที วันนี้ เดี๋ยวนี้ตั้งแต่คุณเป็นแค่ลูกกระจ๊อกได้เลย ทักษะนี้ผมขอให้คำนิยามซึ่งถ้าคุณมีจิตสำนึกอยู่แล้วย่อมรู้ว่ามันหมายถึงอะไร ดังนี้ครับ

– การตัดสินใจที่เด็ดขาด รวดเร็ว ผิดพลาดน้อยที่สุด หรือถ้าผิดพลาดต้องขอโทษและแก้ไขทันที ไม่โลเล
– ความถูกต้อง ถูกกฎหมาย ไม่หมกเม็ด ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่ขี้โกง ไม่เอาเปรียบ
– สร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องได้เหมาะสม ไม่โดนเล่นหัวเกินไปหรือเข้าถึงยากเกินไป
– ทักษะการแก้ปัญหา ไม่หนีปัญหา รับฟังผู้อื่นเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เสียผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
– มีความน่าเชื่อถึงทั้งคำพูดและการกระทำ รับปากแล้วต้องทำได้ ไม่พูดจาซี้ซั้ว หยาบคาย ไร้การศึกษา
– ความสามารถในการสอนงานและเป็นแบบอย่างที่ดี

2. การสื่อสารคือสิ่งที่สำคัญ

อย่างแรกเลยก็คือการสื่อสารที่ต้องเข้าถึงลูกน้องอย่างทั่วถึง สื่อสารด้วยความสุภาพและน่าเชื่อถือ เลือกใช้คำพูดได้เหมาะสมตามกาละเทศะ โดยผมขอย้ำเรื่องการสื่อสารออกเป็นหัวข้อ ดังนี้

– การชมเชยลูกน้องที่ทำความดี ควรชมต่อหน้าทุกคนในทีม ยิ่งเยอะยิ่งดี ลูกน้องยิ่งปลื้ม
– การให้ Negative Feedback ควรทำแบบ Passive หรือพูดอ้อมๆ แบบ (High Context) คือไม่ตำหนิโดยตรง แต่ตำหนิด้วยการชมก่อนแล้วบอกว่าถ้าเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายจะดีกว่านี้อีก เป็นต้น
– ประชุมแต่เรื่องเนื้อๆ กระชับ ตรงไปตรงมา
– ออกคำสั่งด้วยความเด็ดขาดแต่แฝงไปด้วยการให้เกียรติและความเมตตา
– ระวังเรื่องการใช้อารมณ์ในการสื่อสารเด็ดขาด ถ้าอารมณ์ไม่ดีให้หลีกอยู่คนเดียวเพื่อระงับอารมณ์ทันที
– รับปากเรื่องอะไรแล้วต้องทำให้ดี ถ้าขี้ลืมก็ควรจดบันทึกเป็นข้อความหรือใช้อีเมลช่วย

3. ให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

สังคมไทยมีเรื่องนึงที่ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ก็คือส่วนใหญ่คนมักจะตัดสินหรือมองคนที่ภาพลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว บางทีคุณอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดหรือเป็นแค่เรื่องล้อเล่น คุณจึงไม่ระวังคำพูดและการกระทำเท่าไหร่ โดยเฉพาะการแซว เช่น อ้วน ผอม สูง ต่ำ ดำ ขาว ขี้เหร่ ฯลฯ บางทีคำพูดง่ายๆ อย่างทำไมวันนี้อ้วนจัง หรือตัดผมมาใหม่เหรอ ไม่เข้ากับคุณเลย อะไรทำนองนี้ ทั้งๆ ที่คุณพูดโดยไม่คิดอะไร แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่ลูกน้องรู้สึกว่าคุณไม่ให้เกียรติ และจงระวังอคติเรื่องหน้าตาหรือนิสัยที่ทำให้คุณมี Bias รักคนไม่เท่ากัน ไม่ได้เคารพกันที่ความสามารถที่แท้จริง

4. Empathy Skills is the best

คุณจะต้องมีทักษะการเห็นอกเห็นใจ เวลาลูกน้องพูดอะไรก็ตาม คุณจะต้องรู้จักตั้งคำถามในใจว่าทำไมพวกเขาถึงคิดแบบนั้น และลองสวมหัวใจของคุณว่าถ้าเป็นลูกน้องแล้วพูดแบบนี้ คุณน่าจะรู้สึกแบบไหน จากนั้นก็ค่อยถามคำถามพวกเขาเพื่อเช็คว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นตรงกันกับสิ่งที่พวกเขาคิดหรือปล่าว เพียงเท่านี้คุณก็สามารถทำให้ลูกน้องรู้สึกได้เลยว่าคุณแคร์พวกเขามากจริงๆ ครับ ลูกน้องจะรักคุณอย่างมาก

5. ตัดสินและประเมินผลงานด้วยความยุติธรรม

หน้าที่ของคุณคือการประเมินพนักงานโดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญอย่างการปรับเงินเดือน การให้โบนัส การเพิ่มค่าคอมมิชชั่นและค่าจูงใจ คุณจะต้องมีดัชนีวัดผลที่ชี้วัดเป็นตัวเลข มีการประเมินทั้งสองฝั่งโดยให้ลูกน้องประเมินตัวเองและคุณเป็นผู้ประเมิน จากนั้นเอาคะแนนมาเปรียบเทียบกัน เพราะลูกน้องบางคนประเมินตนเองสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง การตัดสินว่าใครเก่งไม่เก่งโดยไม่มีข้อมูลที่ชี้วัดได้จะทำให้เกิดอาการอคติเกิดขึ้น คุณจะต้องระวังเรื่องนี้ให้ดี

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts