จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในยามคับขัน
ณ วันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนในภาคธุรกิจคงอกสั่นขวัญแขวน มือสั่นปากสั่น ไม่เป็นอันทำอะไร เพราะตื่นเช้ามาก็มีแต่ข่าวร้ายต่อเนื่องจากผลกระทบของไวรัส COVID19 ซึ่งผมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันกับทุกคนเช่นกัน
ตัวอย่างข่าวร้ายหนักๆ ก็ไล่ตั้งแต่หุ้นตกเป็นร้อยๆ จุด มูลค่าบริษัทรวมๆ กันหายไปเป็นหมื่นล้านแสนล้านบาท ประท้วงเรื่องค่าเช่าย่านการค้า GDP ประเทศกำลังตกฮวบ แถมยังมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ฮา) ข่าวยิงกัน ฆ่ากัน ไม่เว้นแต่ละวัน
ถึงตอนนี้พวกคุณคงโทษโชคชะตาที่เล่นตลกกับคนทั้งโลกไปเรียบร้อยแล้ว
ในวงการธุรกิจและการลงทุนมีคำคำนึง กล่าวว่า “History repeat itself”
ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอยเสมอ แสดงว่าเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่คุณจะได้ลิ้มรสอันหอมหวานของกลิ่นเงิน และได้ลิ้นรสฝาดขมเวลาที่ธุรกิจไม่เป็นใจ
ว่ากันว่าทุกๆ 10-20 ปี โลกของเรา ประเทศของเรา จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ ซึ่งคุณก็ผ่านมาด้วยกันทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โรคซาร์ส
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งขึ้นชื่อว่าหนักหนาที่สุดนับตั้งแต่คุณลืมตาดูโลกเลยก็ว่าได้ ว่ากันว่าหนักหนายิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะคราวนี้เราสู้กับสิ่งที่คุณมองไม่เห็น
เซลล์ร้อยล้านจะเล่าให้ฟังเรื่องการฝ่าวิกฤตเอง
สิ่งแรกที่คุณต้องคิดเลยก็คือไม่มีธุรกิจไหนยืนยงคงกระพันได้ตลอด ทุกธุรกิจมีวงจรธุรกิจ (Business Cycle) หลักๆ ออกเป็น 4 Stage นั่นคือ ช่วงก่อตั้ง (Launch) ช่วงกำลังโต (Growth) ช่วงคงที่ (Maturity) และช่วงลดลง (Decline) วนไปอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ
ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ เวลาเป็นร้อยๆ ปีที่ผ่านมาบ่งบอกแล้วว่าต่อให้โลกนี้จะแย่แค่ไหน ธุรกิจก็ยังมีวงจรชีวิตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คุณเองต่างหากที่ต้องปรับตัว ไม่มีเวลาที่จะมาโทษฟ้าโทษดินแต่อย่างใด
ปรับที่ความคิดของคุณก่อนเป็นอันดับแรก เพราะระดับโลกเองก็เจอวิกฤตเช่นเดียวกับคุณ แถมผลกระทบยังกว้างกว่าจนเปรียบเทียบไม่ได้
วิธีแก้มีสองอย่างคือ
“ขายคนที่คุณไม่เคยขายมาก่อน” หรือ “ขายสินค้าและบริการใหม่”
ง่ายที่สุดในชั่วโมงนี้คือการเข้าไปขายลูกค้ารายใหม่หรือเข้าไปขายเพิ่มกับลูกค้ารายเดิม คุณแน่ใจแล้วเหรอที่ลูกค้าทุกคนจะปฎิเสธแล้วบอกว่าไม่มีเงินหรือไม่มีงบกันหมด ผมเชื่อว่ามีลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบขนาดนั้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ทำธุรกิจระหว่างประเทศ
จงทำนัดเข้าพบลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบันให้มากกว่าเดิมให้มากที่สุด อย่างแย่ที่สุดคือถึงแม้ว่าจะขายไม่ได้ แต่ความผูกพันธ์ ห่วงใยในฐานะคู่ค้าจะทำให้คุณได้รับความไว้วางใจเมื่อเศรษฐกิจหรือวิกฤตถูกฟื้นฟูขึ้นมา ถึงเวลานั้นก็เตรียมตัวเข้าไปขายลูกค้ากันได้เลย
สุดท้ายคือการมองหาโอกาสในวิกฤต และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น คุณทำธุรกิจติดตั้งแอร์ภายในองค์กร ซึ่งลูกค้ากลุ่มโรงแรมปฎิเสธการลงทุนอย่างแน่นอน คงไม่ดีแน่ถ้านำแอร์รุ่นใหม่ไปขายพวกเขา คุณจึงมองเห็นโอกาสในการหาสินค้าใหม่ซึ่งเสริมกับธุรกิจแอร์ของคุณด้วยการขายระบบกรองอากาศที่สามารถป้องกันฝุ่นหรือทำให้อากาศปลอดเชื้อ นี่คือการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เป็นต้น
จงมองหาโอกาสนั้นให้เจอ ไม่ว่าจะพบวิกฤตมากเพียงใด อย่างน้อยคุณก็รู้แล้วว่าลูกค้าหายไปและต้องการอะไร
ผมบอกให้ก็ได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้คือธุรกิจท่องเที่ยวต้องซบเซาอย่างแน่นอน แต่ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากโรคภัยไข้เจ็บเต็มๆ ก็คือกลุ่มโรงพยาบาล สุขภาพ เครื่องป้องกัน ฯลฯ ซึ่งนี่ก็คือการหาโอกาสให้เจอในช่วงวิกฤต
เพื่อพาเรื่อลำใหญ่ที่ชื่อว่าธุรกิจของคุณให้อยู่รอดปลอดภัยให้ได้นั่นเอง
อย่าไปคิดว่ายุคนี้เป็นยุคเตาอั้งโล่เป็นอันขาด!
Comments
0 comments