การขายลูกค้าราชการแบบ B2B มีการทุจริตรูปแบบใดบ้าง
เนื่องจากช่วงนี้มีข่าวการทุจริตเรื่องจัดซื้อจัดจ้างหลายๆ อย่างตั้งแต่ช่วงแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ขอบอกเลยว่าเซลล์ร้อยล้านโคตรเกลียดเรื่องแบบนี้เลย วงการราชการเป็นธุรกิจ “สีเทาๆ” ไปซะแล้วแบบปฎิเสธไม่ได้จากข้อมูลที่ผ่านมา ที่สำคัญคือจับใครมาดมก็ยังไม่ได้ บางเหตุการณ์ก็จับและลงโทษติดคุก (แต่ก็ติดไม่นาน) ผมเลยอยากสรุปสถานการณ์การทุจริตในการขายแบบ B2B เพื่อให้คุณได้เรียนรู้และเลี่ยงได้ก็เลี่ยงนะครับ ชาติเราไม่พัฒนาก็เพราะยังมีคนให้และมีคนรับแบบนี้นี่แหละ มาดูกันว่ามีรูปแบบอะไรบ้าง
1. การให้สินบนในรูปแบบใดๆ ก็ตาม (Bribery)
คุณอาจได้ยิน “เสียงกระซิบ” จากฝั่งลูกค้า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกตัวชง) ว่าต้องหาสิ่งของมาบรรณาการแบบลับๆ แลกกับการอนุมัติโครงการ หรือได้ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังรวมถึงพวก “เงินทอน” หลังจากการตั้งงบฯ สูงเกินความเป็นจริง สัญญานพวกนี้ดูง่ายตั้งแต่เริ่มเปิดการขายโดยเฉพาะช่วง “ตั้งงบประมาณ” นี่แหละครับ นอกจากนี้การเอนเตอร์เทนจนเกินพอดี ไล่ตั้งแต่ตีกอล์ฟระดับห้าดาว ตีกระหรี่แบบวีไอพี เรียกเด็กเอ็น เด็กวี ห้องสวีต ถือว่าเป็นสินบนทางอ้อมทั้งนั้นครับ
2. การฮั้วประมูล (Collusion)
วิธีการแบบชาวบ้านๆ เลยก็คือคุณเองเป็นหนึ่งในผู้เสนอ รวมหัวกับผู้เสนออีกหลายๆ เจ้า และทุกเจ้าส่งงบประมาณที่สูงเกินความเป็นจริงเพื่อให้ลูกค้าราชการตั้งงบสูงๆ ไว้ก่อน พอประกาศว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ชนะก็แบ่งงานกันทำ หรือแบ่งเงินจากลูกค้ามาแจกแต่ละบริษัทที่เกี่ยวข้อง อีกหนึ่งวิธีที่เป็นข่าวก็คือตั้งบริษัทลูกขึ้นมาและเข้าไปนำเสนอขายงาน ไม่ว่าบริษัทไหนชนะก็ตกอยู่กับเจ้าของบริษัทคนเดียวกันนั่นเองครับ
3. การปลอมแปลงเอกสารและบิดเบือนคุณสมบัติ
ส่วนใหญ่จะเป็นตอนนำเสนอ TOR และต้องส่งเอกสารรับประกันผู้ขาย เช่น ใบ Certificated ต่างๆ ที่ปลอมเอา (แต่ไม่มีจริง) หรืออ้างว่าคุณสมบัติตกสเปค (ทั้งๆ ที่ผ่าน TOR) ด้วยการเล่นคำที่ดิ้นไปดิ้นมา
4. การเอื้อประโยชน์ด้วย TOR
ตรงๆ เลยก็คือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (อาจจะเป็นคนก็ได้) เขียน TOR ร่วมกับลูกค้าและทำให้ตนเองได้เปรียบแบบน่าเกลียด คู่แข่งแทบจะแข่งขันไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การประเมินผู้ชนะที่ไม่ยุติธรรม เน้นราคาถูกจนไม่สนใจคุณภาพหรือเลือกผู้เสนอโนเนมที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน
5. การทุจริตช่วงตรวจรับงาน
คลาสสิคเลยก็คือตรวจงานผ่าน ทั้งๆ ที่งานโคตรห่วย ภาพชัดเลยก็พวกงานทำถนน กทม. นี่แหละครับ ซ่อมแล้วซ่อมอีก หรือไม่ก็จ่ายเงินให้ผู้ขายก่อนทั้งๆ ที่งานยังไม่เรียบร้อยดี (จ่ายเงินให้ผู้ขายก่อนเพื่อรับเงินทอนทีหลัง)
6. การใช้อำนาจและตำแหน่งในการมีนอกมีในกับโครงการ
ไล่ตั้งแต่ตั้งบริษัทนอมินี ไปจนถึงรับผลประโยชน์ทีหลังจากผู้ขาย หรือใช้อำนาจการตัดสินใจในการบังคับให้ซื้อสินค้าหรือบริการที่ตัวเองมีเอี่ยวด้วย
จริงๆ แล้วยังมีรูปแบบการทุจริตหลายรูปแบบ ถ้าใครมีประสบการณ์แย่ๆ ในเรื่องนี้ก็ลองคอมเมนต์และแชร์กันได้นะครับ เพื่อสร้างสังคมการขายให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
Comments
0 comments