พูดมากหรือพูดน้อย จงถอยไปด้วยสกิล Ambivert

มีการถกเถียงอยู่เรื่อยๆ สำหรับการเป็นนักขายหรือนักธุรกิจที่ยอดเยี่ยม บ้างก็ว่าต้องเป็นคนที่พูดเก่ง ชวนคนอื่นคุยก่อนได้เก่ง หรือเป็นคนเฟรนลี่ อารมณ์อยู่บนรถทัวร์กับคนแปลกหน้าก็ชวนคุยได้เป็นคุ้งเป็นแคว คนประเภทนี้เราจะเรียกว่าคนที่มีบุคลิกแบบ Extrovert

แต่ก็มีตำราธุรกิจหลายๆ เล่มมักบอกว่าคนที่เป็นนักขายที่น่าเชื่อถือ มืออาชีพ ต้องมีความสุขุม พูดให้น้อย ถามคำถามให้คน แล้วก็ฟังคนอื่นพูดมากกว่าพูดอยู่คนเดียว อารมณ์ประมาณไปผับแต่ไม่ขี้โม้พูดเยอะในวงเหล้า แต่ยืนถือแก้วชิลๆ แล้วไม่ได้พูดอะไรมากแต่ก็มีความสุขกับคนอื่น คนแบบนี้เราเรียก Introvert

เถียงกันไปก็คงไม่จบอยู่ดี ในเมื่อแต่ละบุคลิกนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งคู่ พูดมากไปถ้าดันไปเจอลูกค้าที่ไม่ “ถูกจริต” ก็มีสิทธิ์กลายเป็นคนที่น่ารำคาญได้ แต่บางทีพูดน้อยไปแล้วมัวแต่ถามคำถามลูกค้า ถ้าพวกเขาเป็นคนที่เงียบเหมือนกันก็มีสิทธิ์ไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้นแถมยังดูเป็นคนมีเล่ห์เหลี่ยม ไม่จริงใจ

ดังนั้นเราจึงเอาข้อดีของทั้งสองตัวตนนี้มารวมกันดีกว่า เราเรียกบุคลิกนี้ว่า “Ambivert” ซึ่งก็คือคนที่สามารถเลือกใช้คุณสมบัติที่ดีของทั้งสองบุคลิกนี้ได้อย่างสมดุล รู้จังหวะ มีกาละเทศะ เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากเป็นนักขายหรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จงใช้คุณสมบัติที่ดีของทั้งสองบุคลิกนี้อย่างเหมาะสมนะครับ วิธีการมีดังนี้

1. อุปนิสัยของลูกค้า

ถ้าลูกค้าเป็นคนช่างคุย การเลือกเป็นผู้ฟังที่ดีและถามคำถามตามน้ำไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ปล่อยให้พวกเขาพูดจะดีที่สุด แต่ถ้าเจอลูกค้าที่ค่อนข้างเงียบ ปิดตัวเอง ทักษะการพูดที่เก่งโดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่น่าฟังจะทำให้ลูกค้าประเภท Introvert กลายเป็นฝ่ายตั้งใจฟังเสียเอง ถ้าคุณพูดได้ดีก็จะเกิดความชอบหรือความน่าเชื่อถือมากขึ้น คิดให้เป็นขั้วบวกกับขั้วลบ หยินกับหยางเข้าไว้ อ่านลูกค้าให้ออกนะครับ

2. ตำแหน่งและหน้าที่การงาน รวมไปถึงอายุ

ถ้าคุณเป็นคนที่ยศหรือตำแหน่งสูงกว่า การเป็นผู้พูดสิ่งดีๆ มากกว่าจะย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ดีกว่า ผู้นำที่ดีจะต้องพูดได้อย่างน่าจับใจฟัง แสดงถึงมันสมองและวิสัยทัศน์ที่ฉลาด ผู้นำประเภท Introvert จะเสียเปรียบในเรื่องการจูงใจลูกน้อง ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เวลาหัวหน้าพูดอะไรให้ฟังก็ควรเชื่อฟังอย่างจับใจความ ถามคำถามเชิงปราศัยกับหัวหน้าจะดีที่สุด

3. สถานการณ์ต่างๆ

จุดไหนที่ต้องเป็นฝ่ายนำเสนอหรืออธิบาย ควรพูดจาให้ฉะฉาน น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเป็นฝ่ายที่ต้องรับฟังข้อเท็จจริง ควรเป็นฝ่ายฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัดคู่สนทนา ฟังให้จบแล้วค่อยเป็นฝ่ายพูดในภายหลัง

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts