ลูกน้องคิดว่าคุณไม่เก่ง คุณควรทำอย่างไร
การเป็นเจ้าคนนายคนมันไม่ได้ง่ายอย่างที่ตาเห็น โดยเฉพาะบรรดาผู้จัดการรุ่นใหม่ Gen-Y ที่หลายๆ คนไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ต่อให้บ้านรวยมีธุรกิจพันล้านหรือเรียนมาจากสถาบันชั้นนำของประเทศก็ตาม คุณก็ยังถือว่ามือใหม่มากๆ สำหรับการเป็นหัวหน้าอยู่ดีครับ
เว้นเสียแต่ว่าคุณก่อตั้งบริษัทมาด้วยตัวเอง ทำทุกอย่างจากศูนย์จนเริ่มร่ำรวยแล้วจ้างลูกน้องมาทำงานแทนคุณ คงไม่มีลูกน้องหน้าไหนกล้าปีนเกลียวหรือคิดว่าตัวเองแน่กับเจ้าของธุรกิจได้หรอกครับ (ถ้ามันเก่งจริงคงไม่ต้องมาสมัครงานกับคุณแล้ว) หรือถ้าคุณรู้ก็คงต้องไล่ออกสถานเดียว ไอ้พวกนี้เลี้ยงไว้ก็เสียข้าวสุกครับ
แต่การเป็นหัวหน้าคนในระดับองค์กรก็ถือว่าคุณคือ “มนุษย์เงินเดือน” เหมือนๆ กัน เพียงแต่หน้าที่และความรับผิดชอบนั้นมีบทบาทที่แตกต่างกันไป บางครั้งคุณเองก็เลือกไม่ได้ว่าจะมีลูกน้องแบบไหนอยู่ในทีมในกรณีที่คุณมาทีหลัง หรือมีความแตกต่างระหว่างประสบการณ์ของคนมาก่อนมาหลัง แม้แต่เรื่องเพศกับอายุก็สามารถเป็นประเด็น
คงมีบ้างที่คุณรู้สึกว่าไม่ได้รับความเคารพจากลูกน้องเท่าไหร่ และสาเหตุที่คุณพอทราบก็คือพวกเขาคิดว่าคุณไม่เก่งจริง ฝีมืองั้นๆ ไม่แน่จริง พวกเขาเสียอีกทีเก่งหรือมีฝีมือมากกว่าคุณ คุณคงรู้สึกอึดอัดมากแน่นอน ผมเข้าใจเรื่องนี้ดีครับเพราะเคยเจอมาเหมือนกัน
ผมจึงมีวิธีการดีๆ ให้คุณได้ลองทำตามเพื่อผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้นะครับ
1. ส่องกระจกตัวเองก่อน
ก่อนจะเริ่มทำอะไร ให้มองตัวเองหรือคุยกับตัวเองก่อนว่าที่ผ่านมานั้นคุณทำงานได้ดีหรือยัง มีส่วนไหนที่เคยก่อความผิดพลาดกับลูกน้องหรือเนื้องานบ้างไหม (ไม่ผิดนะครับ เพราะไม่มีใครเพอร์เฟค ทุกคนผิดพลาดกันได้) ถ้าคุณรู้สาเหตุว่าหลักๆ มาจากตัวคุณเองนั่นแหละที่ทำงานไม่ได้เรื่องเอง จงใช้เวลาหลังจากนี้ในการปรับปรุงและพัฒนาข้อผิดพลาดที่ผ่านมาเพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นนะครับว่ามีส่วนไหนที่คุณต้องปรับปรุงบ้าง ทางที่ดีคือให้พวกเขาเสนอแนะและรับฟังข้อคิดเห็นอย่างจริงใจ
2. เปิดใจพูดคุยกับพวกเขาไปตรงๆ
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการขอนัดคุยกับพวกเขาเพื่อเคลียร์เรื่องนี้อย่างจริงใจและเปิดใจ แต่ไม่ใช่เรียกพวกเขามาข่มขู่ อะไรทำนองนี้นะครับ คุณจะใช้โอกาสนี้เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากพวกเขาต่างหากว่ามีสิ่งใดที่คุณควรปรับปรุงบ้าง จงรับความจริงจากปากพวกเขาและอย่าใช้อารมณ์เด็ดขาดนะครับ ตั้งสติให้มั่น จนบันทึกว่ามีข้อใดที่เด็กคุณพูดแล้วคุณเห็นด้วยบ้าง เพื่อนำสิ่งนั้นไปพัฒนาต่อในภายหลัง เช่น พวกเขาบอกว่าคุณอ่อนเรื่องสินค้า คุณจึงได้การบ้านไปทำความเข้าใจกับสินค้ามากกว่านี้ เป็นต้น คุณจึงลงมือทำให้พวกเขาเห็นจนได้ใจพวกเขาภายหลัง
3. ทำให้เด็กมันดู
ถ้าคุณเป็นผู้จัดการฝ่ายขายแล้วลูกน้องสงสัยฝีมือของคุณว่าเก่งจริงหรือไม่ วิธีการก็ไม่ยากครับ ทำให้เด็กมันดูซะเลย ด้วยอำนาจและประสบการณ์กับตำแหน่งในนามบัตรของคุณจะทำให้คุณมีข้อได้เปรียบในการทำนัดลูกค้าระดับสูงอยู่แล้ว คุณจึงทำนัดกับลูกค้าเบอร์ใหญ่และเข้าไปนำเสนอขายโดยลากเด็กที่มีข้อสงสัยในตัวคุณเข้าไปด้วย ยิ่งเป็นดีลใหญ่และมีความยาก เจอลูกค้าระดับสูงมากๆ พวกเขาจะเห็นกับตาเองครับว่าคุณนั้นเจ๋งแค่ไหน เพราะคุณรู้ดีอยู่แล้วว่านักขายมือรองบ่อนมักมีเวลาว่างในการนินทาหรือสงสัยความสามารถของเจ้านาย โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีผลงานอะไรดีเด่เป็นชิ้นเป็นอัน คุณจึงทำให้เด็กมันดู จากนั้นก็ไล่บี้ให้เด็กทำเหมือนคุณเลยครับเพราะคุณทำให้แล้ว
4. สอนหรือชี้แนะในสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของพวกเขา
การชี้เป้าหรือกล้าวิจารณ์ผลการทำงานที่ไม่ดีของพวกเขาไปตรงๆ จะทำให้คุณดึงอำนาจการบริหารกลับมาได้ แต่คุณต้องแน่ใจจริงๆ นะครับว่าพวกเขาเห็นด้วยกับจุดอ่อนแบบนั้นจริงๆ เช่น ลูกน้องคุณมีจุดอ่อนเรื่องการนำเสนอ การติดตามงาน คุณจึงติเตียนและสั่งสอนไปตรงๆ เพื่อให้ผลงานของพวกเขาดีขึ้น เป็นต้น พวกเขาจะได้มีสติกลับมาแล้วหันมามองว่าจริงๆ แล้วพวกเขาก็มีจุดอ่อน ไม่ได้เก่งหรือแน่จริงเหมือนปาก ผลลัพธ์ที่ดีก็คือการที่พวกเขาจะกลับมารับฟังคุณในฐานะผู้ที่มองเห็นจุดอ่อนของพวกเขาครับ
5. ตัดใจเสียเถอะ
ถ้าพยายามทำทุกอย่างแล้วแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ลูกน้องยังคงสงสัยและทำงานห่วยเหมือนเดิม แต่ถ้าทำงานไม่ได้ห่วยก็จะคอยทับถมหรือถ่มถุยคุณเรื่อยไป อารมณ์แบบเดียวกับนักบอลระดับโลกที่ดื้อแพ่งไม่ยอมเล่นตามแผนของคุณนั่นแหละครับ ยุคนี้ใครมีปัญหากับโค้ชก็คือต้องโดนขายทิ้งอย่างเดียว คุณจึงใช้อำนาจนี้ได้ในการคุยให้พวกเขาโยกย้ายตำแหน่งไปที่ชอบๆ หรือถ้าอยู่ในช่วงโปรฯ ก็สั่งเช็คบิลได้เลยครับ ไม่ต้องเก็บเอาไว้นาน เสียเวลานะ
การบริหารคนนั้นเป็นศาสตร์ที่ยากแท้สุดหยั่งถึง คุณควรมีทั้งพระเดชและพระคุณนะครับ
Comments
0 comments