เหตุผลที่การใช้ดาราเป็นพรีเซนเตอร์นั้นไม่ค่อยเวิร์คแล้ว

ถ้าคุณติดตามผมอยู่บ่อยๆ คุณคงทราบดีว่างานที่ผมทำอยู่นั้น เรียกได้ว่ากำลัง “ยืนอยู่บนจุดสูงสุด” ของการตลาดเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าระดับชาติและระดับโลกเลยก็ว่าได้ ถ้าวัดจากลูกค้าและผลแพ้ชนะในการแข่งขันระดับสูง

สิ่งที่ผมขายอยู่เป็นประจำคือ “การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์” (Influencer Marketing) โดยเฉพาะบรรดายูทูเบอร์ (Youtuber) ที่เป็นคนดังในสังคมย่อยๆ เฉพาะกลุ่มผู้ติดตาม (Follower) ที่คุณน่าจะรู้จัก เช่น บี้ เดอะสกา แบไต๋ไฮเทค เฟื่องลดา พิมรี่พาย ฯลฯ เป็นต้น

การใช้พรีเซนเตอร์ประกอบการโฆษณาถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของศาสตร์การตลาด ซึ่งขั้นแรกสุดที่ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์สินค้าหรือจดจำโฆษณาได้ไวที่สุดก็คือการจ้างดาราดังมาช่วยโปรโมทสินค้านั่นเอง

ซึ่งคุณคงแปลกใจว่าทำไมเทรนด์ของการใช้อินฟลูเอนเซอร์นั้นมีอัตราการเติบโตสูงมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่คุณดูทีวีอย่างเดียวและแบรนด์สินค้าก็มักจะมีพรีเซนเตอร์เป็นดาราดัง เวลาลงข่าวทีนึงก็จะบอกว่าพรีเซนเตอร์คนไหนได้ค่าตัวระดับ 7-8 หลัก บางคนถึงกับมีฉายาว่า “เจ้าแม่โฆษณา”

จากสิ่งที่กล่าวมาคงเป็นเรื่องที่คุณคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ทำไมบทความในวันนี้จากผมถึงบอกว่ามันไม่ค่อยเวิร์กอีกต่อไปแล้วที่จะทำการตลาดด้วยวิธีการจ้างดาราดัง เหตุผลเป็นเพราะอะไรนั้น มาติดตามผมกันเลยครับ

1. ดาราดังไม่ได้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์สินค้าอีกต่อไปแล้ว

สมัยก่อนคุณคงเคยซื้อสินค้าตามดารา เพราะคิดว่าจะหล่อ สวย เหมือนพวกเขา แต่ปรากฎว่ายุคนี้มันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มไม่เชื่อว่าดาราดังนั้น “ใช้สินค้าจริง” หรือสินค้าเองมีสรรพคุณที่โอ้อวดเกินจริง เช่น ผมนุ่มสลวยสวยเก๋ภายใน 30 วัน หรือใช้โฟมล้างหน้ายี่ห้อนี้บ่อยๆ แล้วจะหล่อเหมือนประเอก เป็นต้น ที่สำคัญคือดาราส่วนใหญ่หลายๆ คน “ไม่ได้มีประสบการณ์ในการใช้สินค้าจริง” เช่น เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณารถตลาดแต่ตัวจริงกลับขับซูเปอร์คาร์หรือนั่งรถตู้ไปทำงาน (ฮา) ทำให้กลุ่มลูกค้าจริงนั้นเริ่มไม่เชื่อสิ่งที่แบรนด์พูดออกมา พวกเขามีแนวโน้มที่จะเชื่อคนที่มีประสบการณ์ในการใช้จริงมากกว่า จึงไม่แปลกที่คุณซื้อเครื่องสำอางค์จากการรีวิวนั่นเอง

2. ดาราไม่ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง

แน่นอนว่าดาราระดับแม่เหล็กสมัยก่อนคงมีคนรู้จักไล่ตั้งแต่ลูก เด็ก เล็กแดง ไปจนถึง ลุง ป้า น้า อา ยิ่งถ้าใครดังมากๆ ก็มักจะมีคนติดตามดูทีวีอยู่ตลอด แต่ยุคนี้มีอินเทอร์เน็ตและยูทูป ทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้ชอบดาราคนนั้นจริงๆ หรือไม่ชอบดูทีวีก็เลือกที่จะติดตามคนที่พวกเขาชื่อชอบจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ จำได้ไหมครับที่ยุคสมัยช่วงเพลงเกาหลีเข้าไทยจนฟีเวอร์ใหม่ๆ กลุ่มเด็กเหล่านี้ (ที่กลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว) ไม่ได้มีความสนใจดาราไทยหรือนักร้องไทยเท่าไหร่ พวกเขายินดีที่จะซื้อสินค้าและเลือกติดตามคนที่พวกเขาชื่นชอบมากกว่า ดังนั้นการใช้พรีเซนเตอร์ที่ดังและถึงแม้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะรู้จักก็จริง แต่พวกเขาก็ไม่ได้อินและไม่สนใจ ทำให้คุณเสียเงินไปฟรีๆ 

3. ดารารับงานโฆษณาสินค้าหลายตัวมากเกินไปจนขาดความน่าเชื่อถือ

ดาราชื่อดังเนื้อหอม ใครๆ ก็ต้องการตัว จึงเป็นเหตุผลที่แบรนด์สินค้าหลายๆ ชิ้นนั้น “เข้ามารุมจีบ” ซึ่งทำให้พวกเขายินดีรับงานพรีเซนเตอร์ที่บางงานก็ไม่ได้เข้ากับบุคลิกและตัวตนกับพวกเขามากนัก ศัพท์ในวงการของผมเรียกว่า “หน้าช้ำ” หรือแม้แต่ยูทูเบอร์ชื่อดังบางคนที่เป็นสายรับรีวิวสินค้า บางทีก็รับงานมาทุกแบรนด์และพูดแต่ในด้านดีทั้งหมด ไม่กล้าวิจารณ์สินค้าอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการซื้อสินค้า การจ้างดาราดังที่รับงานโฆษณามากเกินไปจะทำให้คุณอาจเอาเงินตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

นี่คือเหตุผลที่การเลือกใช้ดาราดังระดับพระเอก นางเอกนั้นเริ่มไม่ค่อยเวิร์คในยุคปัจจุบันนี้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสินค้าด้วยเช่นกัน ซึ่งสินค้าที่เหมาะสมก็ควรเป็นสินค้าที่ขายกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย เน้นการขายเชิงปริมาณเป็นหลัก เป็นต้น

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น