เหตุผลที่ 'Micro-Influencer' ถึงมีผลกับการตลาดในยุคนี้

คุณผู้อ่านเคยรู้จักคำว่า “Micro-Influencer” กันบ้างไหมครับ ถ้าไม่รู้ ผมขอพูดอีกคำนึงที่น่าจะใกล้เคียงกว่านี้ก็คือ “Presenter” ซึ่งก็หมายถึงบรรดาดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ นั่นเองครับ

สมัยก่อน เวลาแบรนด์สินค้าเลือกใช้พรีเซนเตอร์ระดับตัวแม่ คุณคงนึกถึงแบรนด์ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก รถยนต์ ฯลฯ ที่เลือกใช้ดาราระดับคุณอั้ม พัชราภา คุณณเดช คุณเวียร์ คุณแพนเค้ก ที่พวกเขาเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์อะไร สินค้าเหล่านั้นย่อมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยอดขายมาจนขายแทบไม่ทัน

แต่สมัยนี้ ถ้าคุณเป็นเด็กรุ่นใหม่ ผมขอถามว่าคุณยังรู้จักดาราระดับพี่วีร์ (วีรภาพ) พี่ป๋อ พี่แอน (ทองประสม) พี่แพนเค้ก กันอยู่หรือไม่ครับ (วัดอายุ ฮา) ถ้าไม่ นั่นก็หมายความว่าคุณกำลังกลายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ดาราระดับตัวแม่ไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิตของคุณแล้ว หมายความว่าพวกเขาจะช่วยให้แบรนด์สร้างยอดขายอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

ยิ่งโลกนี้เป็นยุคของโลกออนไลน์แทบจะ 100% พวกคุณเองก็แทบไม่ได้เปิดทีวีดูละครหลังข่าว หรือตามดูรายการที่คุณชื่นชอบอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกวันนี้พวกคุณสามารถ “เสพ” สิ่งที่คุณชื่นชอบได้ผ่านยูทูป เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ้ค และช่องทางอื่นๆ บนโลกออนไลน์เพียงแค่ปลายนิ้ว

คุณสามารถข้ามโฆษณาที่คุณเกลียด รายการที่คุณไม่ชอบ หรืออยากจะดูอะไรที่คุณอยากดูเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เพียงแค่เข้าไปสู่โลกออนไลน์ผ่านมือถือ 4G ซึ่งก็หมายความว่าธุรกิจทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ย่อมได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ดาราแทบไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตของคุณเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นโจทย์ของนักการตลาดก็คือจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงโฆษณาในเมื่อตอนนี้ดารานั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วในหลายๆ กรณี เซลล์ร้อยล้านจะเขียนอธิบายเรื่องนี้ให้ฟังเองครับ

1. อะไรคือ Micro-Influencer

คำว่าไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (ขอเรียกทับศัพท์ว่าไมโครฯ) คือคน เพจ เว็บไซท์ สถาบัน ฯลฯ ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของคุณและคุณก็มีความชื่นชอบ เคารพนับถือเป็นพิเศษ ซึ่งคนกลุ่มนั้นจะไม่ได้เป็นถึงระดับดาราหรือคนดังแต่อย่างใด อาจจะเป็นคนธรรมดาด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ดาวคณะ ดาวออฟฟิศ อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งการวัดผลว่าคนกลุ่มนั้นยังอยู่ในระดับไมโครฯ และไม่ได้ดังแบบพวกดาราหรือเนตไอดอลก็คือ “ยอดผู้ติดตาม” (Follower) ในโซเชี่ยลมีเดียของพวกเขานั่นเอง และผู้ติดตามจะอยู่ในระดับไม่ถึงห้าหมื่นคน เช่น ไอจีของดาวคณะคุณมีคนติดตามราวๆ 5,000 คนในไอจี ซึ่งก็ถือว่าดังเฉพาะในมหาวิทยาลัย ยังไม่รู้จักในวงกว้าง เป็นต้น

2. Micro-Influencer มีความ “เรียล” (สมจริง) มากกว่าการจ้างดารา

ยุคนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ฉลาดขึ้น พวกเขาสามารถค้นหาสินค้าหรือบริการและดูรีวิวกับความคิดเห็น โดยเฉพาะกับลูกค้าที่เคยซื้อไปแล้ว ทำให้พวกเขาเริ่มไม่เชื่อโฆษณายุคเก่าที่เปิดกรอกหูโม้แต่สรรพคุณขั้นเทพพร้อมกับเอาดาราดังมาการันตีว่าสินค้าดีอีกต่อไปแล้ว ตัวอย่างเช่นโฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่งที่ใช้ดาราหล่อขั้นเทพมาขับรถอีโค่คาร์ แต่ตัวจริงกลับขับลัมโบร์กินี่ทุกวัน (ฮา) อย่างนี้ถือว่าไม่น่าเชื่อถือแล้ว เป็นต้น

ดังนั้นการให้ไมโครฯ มาเป็นพรีเซนเตอร์และใช้สินค้าจริง เขียนโพสต์ ถ่ายรูป อัดวีดีโอรีวิวด้วยตัวเองหรือพูดแบบไม่มีสคริปต์ พูดตามจริง จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าที่ติดตามหรือชื่นชอบ “เชื่อ” ในสิ่งที่ไมโครฯ พูดมากกว่าระดับดาราเสียอีก เอาตรงๆ ยุคนี้แบรนด์สินค้ากับการใช้ดารา คนส่วนใหญ่ดูก็รู้ว่าจ้างมา รับเงินให้พูดตามสคริปต์ เป็นพรีเซนเตอร์ยาลดน้ำหนักบอกคุณว่ากินแล้วผอม แต่ตัวจริงกลับออกกำลังกายทุกวันมาก่อนหน้านี้แล้ว พอหุ่นสวยก็เริ่มรับค่าจ้างโฆษณา อย่างนี้ถือว่าขาดความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิงครับ

3. Micro-Influncer มีความคุ้มค่ามากกว่าการจ้างดาราตัวแม่เพียงคนเดียว

ลองนึกถึงสมัยทีวีเฟื่องฟูนะครับ คุณจะได้ยินในข่าวบ่อยๆ ว่าดาราตัวแม่รับค่าโฆษณาตัวเดียว “8 หลัก” อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันเวิร์คเพราะคนดูและมีทีวีเปิดกรอกหูทั้งบ้านทั้งเมืองยังไงล่ะครับ แต่ยุคมือถือแบบนี้ คนส่วนใหญ่ไม่ดูทีวีแล้ว การเอาเงิน 8 หลักมาจ้างคนธรรมดาที่มีผู้ติดตามพอประมาณ อาจจ้างได้เป็นพันคน ไม่เชื่อถ้าผมจ้างคุณให้ไปซื้อยาสีฟันของผมและรบกวนให้คุณรีวิวกับโพสต์ลงเฟซบุ้คของตัวเอง โดยได้ค่าจ้าง 1,000 บาท อย่างนี้คุณจะรับงานมั้ยครับ (ฮา) หมายความว่าผมสามารถจ้างคนได้แบบกองทัพมด ที่สำคัญคือได้คนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ทำให้ชิ้นงานโฆษณามีความเรียล (สมจริง) และเกิดความน่าเชื่อถือจากผู้จริงมากกว่าจ้างดารา

นี่คือแนวโน้มด้านการตลาดออนไลน์ของโลกล่าสุดเลยล่ะครับ ถ้าคุณทำธุรกิจแนว B2C หรือเป็นนักการตลาด บทความนี้จึงเหมาะกับคุณมากๆ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น