ทำไมถึงต้องลงไปทำงานคลุกฝุ่นร่วมกับทีม
บทความนี้เขียนไว้สำหรับผู้นำองค์กรระดับผู้จัดการจนถึงระดับเจ้าของธุรกิจที่มีลูกน้องพร้อมรับใช้นายเป็นร้อยเป็นพันชีวิต ยิ่งองค์กรของคุณมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ “ระยะห่าง” (Gap) ระหว่างคุณกับลูกน้องตัวจิ๋วๆ ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ต่อให้บริษัทคุณมีพนักงานไม่เกิน 100 คนก็เหอะ คุณย่อมรู้ดีว่าเริ่มมีระยะห่างกับพนักงานระดับล่างแล้ว
การทำงานในยุคนี้โดยเฉพาะองค์กรระดับโลกได้บ่งบอกชัดเจนแล้วว่าหมดยุคสมัยของการทำงานแบบเก่าๆ ที่ผู้จัดการหรือผู้ที่เป็นใหญ่เป็นโตในบริษัทจะชี้นิ้วสั่งลูกน้อง ส่วนตัวเองก็นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง จิบกาแฟ ตากแอร์เย็นๆ สบายใจเฉิบ
ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ที่ผมพบเห็นมา แม้กระทั่งผู้จัดการระดับล่างที่มีทีมงานไม่ถึง 10 คนแต่ไม่เคย “ทำงานคลุกฝุ่น” ร่วมกับทีม ส่วนใหญ่มักจะพบจุดจบและไม่ได้ทำให้ทีมประสบความสำเร็จจนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
มาดูเหตุผลจากผมกันครับว่าทำไมคุณถึงต้องลงไปทำงานคลุกฝุ่นร่วมกับทีม ถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งค้ำคอและมีลูกน้องคอยช่วยทำงาน เหตุผลเพียงแค่นั้นอาจไม่เพียงพอครับ
1. เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ลูกทีมเชื่อมั่นในตัวคุณ
“หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” คำคำนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะบางทีคุณต้องการให้ลูกน้องทำในสิ่งที่คุณคิด แต่พวกเขากลับไม่ลงมือทำตาม หรือสั่งให้ทำก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ไม่ทุ่มเท สักแตทำไปงั้นๆ แบบไม่เต็มที่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะว่าพวกเขาไม่ได้เชื่อมั่นในตัวคุณนั่นเอง ถ้าเป็นภาษาฟุตบอลก็คือการ “เล่นไล่โค้ช” นั่นแหละครับ ปัญหานี้จะหมดไปถ้าคุณลงไปทำงานคลุกฝุ่นกับพวกเขา ตัวอย่างเช่น คุณเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย การลงไปออกตลาดร่วมกับทีมขายและโชว์วิธีการขายที่ถูกต้องจนปิดการขายให้พวกเขาดูต่อหน้าจะเป็นวิธีดึงความเชื่อมั่นในความสามารถของคุณได้ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องโม้แต่ปาก เป็นต้น
2. เป็นการทำให้พวกเขารู้ว่าคุณยืนอยู่ในระดับเดียวกับพวกเขา
สิ่งที่คนทุกคนไม่ชอบอย่างยิ่งคือการโดนดูถูก การถูกมองข้าม การไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่หรือใครหลายๆ คนเบื่อบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศเลยก็ว่าได้ ส่วนคนที่มีตำแหน่งใหญ่โตก็เหมือนกัน พอคุณมีอำนาจอยู่ในมือ คุณจะเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า “อีโก้” (Ego) เพิ่มขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว จากคนที่ใจดีมีน้ำใจถึงไหนถึงกันก็กลายเป็นคนเย่อหยิ่งจองหอง มองลูกน้องแบบเหยียดๆ จนทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ การลงไปทำงานคลุกฝุ่นจะเป็นการแสดงว่าคุณให้ความสำคัญกับลูกน้องอย่างเท่าเทียมกันและเป็นการเปิดใจลูกน้องจากการฝ่าฟันอุปสรรคการทำงานร่วมกันจนเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน
3. เป็นวิธีการตรวจสอบประสิทธิภาพและประเมินผลการทำงานลูกน้องที่ดีที่สุด
การดูแต่รายงานผลการทำงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ข้อมูลด้านตัวเลขไม่ได้บ่งบอกถึง “เนื้องาน” และเป็นการดูแต่เรื่องผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะทีมขายที่นักขายบางคนมีตัวเลขสูงก็จริง แต่เมื่อคุณขาดกิจกรรมการออกตลาดร่วมกับทีมจึงทำให้มองไม่เห็นปัญหาว่าจริงๆ แล้วนักขายมียอดขายที่ดีจากลูกค้ารายใหญ่อย่างเดียวที่ซื้อซ้ำๆ แต่ขาดการออกไปขายลูกค้าใหม่ เป็นต้น การออกตลาดร่วมกับนักขายที่อ่อนเรื่องตัวเลขเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อคุณไปดูการทำงานต่อหน้าลูกค้าร่วมกับพวกเขา คุณจะพบว่าที่เขาปิดการขายไม่ได้เป็นเพราะมีปัญหาเรื่องการนำเสนอที่ต้องปรับปรุง คุณจึงสอนงานและหาวิธีแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
นี่คือเหตุผลที่คุณต้องออกไปคลุกฝุ่นร่วมกับลูกน้องในฐานะของผู้นำองค์กรครับ
Comments
0 comments