ทางเลือกสำหรับการลงทุนในสินค้าแบรนด์เนม และทำไม 'ของมันต้องมี'

สำหรับคนที่มีปรัชญาการใช้ชีวิตแบบพอเพียงและไม่พิศมัยอะไรกับ “สินค้าแบรนด์เนม” กันซักเท่าไหร่ เพราะมันเป็นของสิ้นเปลือง กระเป๋าบ้าอะไรราคาตั้งเป็นหมื่นเป็นแสน ทั้งๆ ที่คุณภาพไม่ได้ต่างกับกระเป๋าประตูน้ำเลย (ฮา)

อนึ่ง สินค้าแบรนด์เนมส่วนใหญ่คือสินค้าที่อยู่ในตลาดและมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป หรือเป็นสินค้าที่ “ยากจะเอื้อมถึง” เช่น รถหรู กระเป๋าแบรนด์เนม รองเท้า นาฬิกา เข็มขัด เสื้อผ้า สร้อย แหวน ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือต่อให้คุณมีเงินเดือน 100,000 บาท แต่การซื้อสินค้าเหล่านี้จะเป็นต้องคิดให้ดีๆ และคิดแล้วคิดอีก

เซลล์ร้อยล้านเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจเลยครับว่าทำไมคนเราต้องซื้อสินค้าแบรนด์เนม เพราะมันค่อนข้างไร้เหตุผลและไม่ได้สร้างรายได้หรือทำให้ผมรวยขึ้นแต่อย่างใด สู้เก็บเงินเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือซื้อสิ่งของที่คุ้มค่าและราคาย่อมเยาว์มากกว่า อาจจะเป็นสิ่งที่ฉลาดกว่า แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะผมไม่มีเงินต่างหากล่ะ

จนกระทั่งเมื่อผมได้ก้าวสู่โลกธุรกิจแบบเต็มตัว ผมได้พบเจอกับลูกค้าระดับสูงหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ก็พบว่าพวกเขามักมีสินค้าแบรนด์เนมติดตัวกันแทบทุกคน (อย่างน้อยที่สุดก็คือกระเป๋าหรือนาฬิกา) และผมเองก็ได้ลองเป็นผู้ครอบครองสินค้าเหล่านี้ เชื่อผมมั้ยครับว่าการซื้อสินค้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องสิ้นเปลืองอีกต่อไปแล้ว

แต่มันกลายเป็น “การลงทุน” และนอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญที่เป็นตัวช่วยให้ผมเป็นนักขายที่ทำงานได้ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ มาดูเหตุผลกันเลยครับว่าทำไมสินค้าแบรนด์เนมถึงกลายเป็นทางเลือกเรื่องการลงทุนและทำให้ผมกล้าพูดกับคุณได้ว่าถ้ามีรายได้มากพอ คุณจะต้องมีมันอย่างน้อยติดตัวซักชิ้นนึงครับ

1. เป็นสินค้ามีสามารถ “เก็งกำไร” และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

การซื้ออะไรก็ตาม ถ้าคุณซื้อแล้วสามารถขายทิ้งได้และได้ “กำไร” หลังจากการขาย สิ่งนั้นถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนทั้งนั้นครับ แบรนด์เนมเองก็เช่นกัน เพียงแต่คุณต้องฉลาดที่จะเลือกลงทุนในสินค้าแบรนด์เนมที่มั่นใจได้ว่าสามารถสร้างผลกำไรหลังจากตัดสินใจซื้อ ซึ่งผมมีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้

– เป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น นาฬิกาโรเล็กซ์บางรุ่น กระเป๋าชาแนล รองเท้ารุ่นยอดนิยม เป็นต้น

– การลงทุนกับกระเป๋าและนาฬิกาแบรนด์เนมคือทางเลือกที่ฉลาดที่สุดเพราะรุ่นยอดนิยมนั้นเป็นอะไรที่ราคาขึ้น

– การซื้อรองเท้าแบรนด์เนมแทบทั้งหมดมักไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีเพราะซื้อยังไงก็ขาดทุน

– การซื้อแบรนด์เนมในประเทศไทยบางทีก็มีราคาและแบบถูกกว่าเมืองนอก แต่ส่วนใหญ่ถ้ามีโอกาสซื้อที่ประเทศยุโรปอย่างฝรั่งเศสหรือสวิสเซอร์แลนด์ คุณมีโอกาสได้สินค้าที่มีราคาถูกกว่าไทยหลักหมื่นถึงแสนแน่นอน

– การซื้อแบรนด์เนมมือสองสภาพดีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่ทำให้คุณได้สินค้าราคาถูกและปล่อยแพงได้

2. เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อ “สร้างความน่าเชื่อถือ” ในตัวคุณ

ถ้าคุณเป็นนักขายหรือนักธุรกิจ นี่คือเหตุผลว่าทำไมรถหรู นาฬิกาหรู ถึงพยายามใช้พรีเซนเตอร์หรือสื่อภาพลักษณ์การเป็นเจ้าของด้วย “ความเป็นนักธุรกิจ” หรือไม่ก็สื่อให้เห็นถึงความสง่างามของคนระดับผู้บริหารเช่นคุณ (ยิ้ม) เหตุผลก็คือว่าของแบรนด์เนมสามารถทำให้บุคลิกและภาพลักษณ์ของคุณกลายเป็นผู้บริหารที่น่าเชื่อถือ สินค้ายอดนิยมในหมู่นักธุรกิจก็คือรถหรู นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม สูทแบบเทเลอร์เมดผ้าอิตาลี่ รองเท้าหนังยี่ห้อดัง เข็มขัดสายหนังแบรนด์เนม เป็นต้น เพียงเท่านี้คุณก็มี “เปลือก” ที่ลูกค้าเห็นก็เชื่อถือคุณตั้งแต่ 3 วินาทีแรกแล้วล่ะครับ ซึ่งไม่ผิดที่ลูกค้าจะมองเพียงแค่นั้นเพราะว่าพวกเขามีเวลาเพียงน้อยนิดในการ “ตัดสินคุณ” ตั้งแต่แรกพบ

3. เป็นสิ่งที่เอาไว้ใช้ “ละลายน้ำแข็ง” (Break the ice) ในคอนเนคชั่นระดับสูง

นักขายหรือนักธุรกิจคืออาชีพที่ต้องคลุกคลีอยู่กับ “คอนเนคชั่น” เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเก๋าก็ต้องมีคอนเนคชั่นระดับผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจร้อยล้านพันล้านผู้ร่ำรวย การพาตัวเองไปอยู่กับสังคมแบบนั้นเพื่อแสวงหาคอนเนคชั่นให้ตัวเองได้ประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่ “เซลล์ขายของ” มีวิธีการที่หลากหลาย เช่น การเรียนต่อปริญญาโทสถาบันที่มีชื่อเสียง การเข้าคอร์สสัมมนาธุรกิจ การเข้าสมาคมคลับกิจกรรมชั้นสูงอย่างขี่ม้า ตีกอล์ฟ ฯลฯ ซึ่งถ้าคุณไม่อยากเสียเวลากับเรื่องแบบนั้น การมีสินค้าแบรนด์เนมบางอย่าง เช่น รถหรูอย่างเบนซ์ ปอร์เช่ ก็สามารถพาคุณไปอยู่ในสมาคมที่อุดมไปด้วยคอนเนคชั่นและการใช้สินค้าเหล่านี้เป็นตัว “เปิดประเด็น” เพื่อหาเรื่องคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน วิธีง่ายๆ ก็คือการชวนพวกเขาคุยเรื่องแบรนด์เนมนี่แหละครับ ถ้าคุณมีเหมือนพวกเขาก็จะยิ่งง่ายมากๆ

นี่คือเหตุผลที่ผมอยากให้คุณลองลงทุนกับสินค้าแบรนด์เนมเพื่อ “เอาเงิน” จากลูกค้ามาคืนทุนให้คุณครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น