เมื่อไหร่ที่คุณควรออกไปเป็นนายตัวเอง
คำว่า “เป็นนายตัวเอง” คือคำที่พูดที่ไรก็ “ก้องอยู่ในใจ” ของคนทำงานแบบพนักงานแทบทุกคน ยิ่งถ้าคุณอยู่ในสายงานธุรกิจแบบองค์กรเอกชน คุณย่อมรู้ดีว่าไม่ว่าจะตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดไปจนถึง “คนขับรถ” ของบริษัทแทบทุกคนต้องมีความฝันหรือ “เคยคิด” ถึงความรู้สึกของการเป็นเจ้าของธุรกิจว่ามันจะเป็นยังไงกันนะ
แต่ความท้าทายและความยากลำบากที่ทำให้หลายๆ คนแค่ฝันแต่ไม่กล้าลงมือทำก็คือ “ความเสี่ยง” และภาระที่ต้องรับผิดชอบในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูก เมีย บ้าน รถ ฯลฯ แถมยังมีหลายๆ เหตุการณ์ที่คนทำงานประจำกลับล้มเหลวในการทำธุรกิจส่วนตัวก็มีอยู่ถมไป
แม้กระทั่งงานประจำที่ “ราบรื่นเกินไป” จนกลายเป็นโซนสบาย (Comfort Zone) ทำให้คนที่มีความสามารถในการเป็นเจ้าของกิจการนั้นไม่ได้ถูกเสี่ยงและลงมือทำ พื้นที่ของการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนจึงเป็นพื้นที่ของ “คนกล้า” เท่านั้น (ไม่นับลูกเถ้าแก่) กล้ายังไม่พอ ต้องมีความสามารถด้วย
ผมจึงขอเขียนบทความที่ผมพูดได้เต็มปากในฐานะลูกจ้างมืออาชีพและเป็นเจ้าของกิจการ ผมผ่านร้อนผ่านหนาวและการตัดสินใจที่แขวนบนเส้นด้ายมาหลายครั้ง จึงขอถ่ายทอดความคิดและสิ่งที่จะช่วยให้คุณถามตัวเองว่าพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการเป็นเจ้าของกิจการที่นี่ ตรงนี้เลย นั่งลงเถิดครับแล้วผมจะเล่าให้ฟัง
1. เมื่อคุณตกอยู่ในสภาวะวิกฤตช่วงที่ทำงานประจำ
COVID-19 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ดีว่าบนโลกนี้ “ไม่มีอะไรแน่นอน” แม้แต่อาชีพที่มั่นคงสูงมากอย่างกัปตัน แอร์ พนักงานโรงแรม 5 ดาวย่านแหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงหมอ ทันตแพทย์ที่ทำงานในคลินิกตามห้างก็แทบจะล้มทั้งยืนเลยล่ะครับ แน่นอนว่าสถานการณ์แย่และบีบบังคับคุณขนาดนี้ ไล่ตั้งแต่การลดเงินเดือน การถูกบีบให้ออก การตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ถ้าคุณไม่ได้ทำอะไรผิดแล้วผลงานโดยรวมยังดีอยู่ คุณคงรู้สึกถูกบีบคั้นและเจ็บช้ำ มันจึงเหลือทางเลือกไม่มากระหว่างการหางานใหม่กับ “ถึงเวลาออกไปเป็นนายตัวเอง” ซึ่งคุณจะตัดสินใจง่ายขึ้นแน่นอนถ้าใจอยากออกไปทำธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว
2. ถามตัวเองให้แน่ใจเกี่ยวกับความใฝ่ฝัน
คนที่จะออกมาเป็นนายตัวเองต้องมีความมุ่งมั่น แน่วแน่ในความคิด ทัศนคติสำคัญกว่าการประเมินเรื่องความเสี่ยงและความพร้อมเสียอีก จริงอย่างที่เขาว่าคือจงอย่ารอให้พร้อมก่อน เพราะมันไม่มีทางที่จะพร้อม จงถามตัวเองหลายๆ ครั้งว่าความฝันของคุณคือการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่หรือไม่ หรือพอใจกับการเป็นลูกจ้างมืออาชีพที่ทำงานมั่นคง สวัสดิการดีเลิศ มีโอกาสเติบโตและรับรายได้สูง ไม่เสี่ยงมากเท่ากับการเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่มีสิ่งไหนผิดในการตัดสินใจ แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจต้องชัดเจนว่าจะไม่หันกลับไปมองงานประจำ (ในขณะที่ธุรกิจทำแล้วมีทางไป) เพื่อไม่ให้เกิดอาการเสียดาย “Comfort Zone”
3. ประเมินความสามารถและประสบการณ์การทำงานของตนเอง
การทำธุรกิจใดๆ ก็ตามมักเกิดจากองค์ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ คือ การขาย การตลาด การผลิต (สินค้า) ซึ่งคุณควรจะมีความมั่นใจความสามารถที่เชี่ยวชาญจาก 1 ใน 3 ส่วนนี้ กล่าวคือ
– การขาย: ถ้าคุณมีสกิลนี้ คุณจะเห็นภาพชัดเจนมากเวลาทำธุรกิจของตนเองและต้องขายลูกค้าใหม่ คุณสามารถสร้างคอนเนคชั่นจาก 0 ได้ด้วยตนเอง เปิดการขายไปจนปิดการขายก็คือได้เงิน ถ้าทำธุรกิจ B2B ย่อมรู้ดีว่าการขายคือหัวใจที่สำคัญที่สุด มีสกิลนี้แล้วบวกกับสินค้าที่ดี รับรองว่าธุรกิจไปได้อย่างแน่นอน
– การตลาด: ถ้าคุณมีสกิลนี้ คุณย่อมรู้วิธีและใช้เครื่องมือในการหาลูกค้าใหม่ งานโฆษณาตรงกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นความเชี่ยวชาญของคุณ ซึ่งถ้าคุณทำธุรกิจ B2C เช่น ขายของออนไลน์ ฯลฯ คุณสามารถใช้ความสามารถในการยิงโฆษณา ทำโปรโมชั่น เพื่อให้ลูกค้าซื้อผ่านออนไลน์หรือขายหน้าร้านได้เลย คุณจึงควรมีทักษะการขายเบื้องต้นและมีความรู้เรื่องการผลิตหรือสินค้าเพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืน
– การผลิต (สินค้า): สกิลนี้รวมถึงทักษะการเป็นช่างฝีมือ ช่างผลิต สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้งานฝีมือหรือสมอง เช่น โปรแกรมเมอร์ นักเพาะปลูก นักประดิษฐ์ ฯลฯ คุณมีสินค้าที่ยอดเยี่ยมแล้ว สามารถสร้างธุรกิจเพื่อขายสินค้าของตนเองและหาความรู้ด้านการตลาดมาโฆษณาสินค้าให้ขายดีมากยิ่งขึ้นได้
4. มองตัวเองเกี่ยวกับภาระที่ต้องสะสางก่อนออกไปทำธุรกิจ
ผมไม่ได้เชียร์ให้ทุกคนออกไปทำธุรกิจเมื่อไม่พร้อมนะครับ ยิ่งคนที่มีภาระต้องแบกรับ คุณควรเคลียร์ภาระโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เพียงพอก่อนออกจากงานประจำ เพราะการออกไปทำธุรกิจแบบมีภาระที่แบกจนหลังแอ่นจะเป็นตัวฉุดไม่ให้คุณทำธุรกิจได้สำเร็จ ภาระที่ว่านั้น มีอะไรกันบ้าง ดังนี้
– หนี้บัตรเครดิต
– หนี้เงินกู้ กยศ.
– หนี้บ้านหรือรถที่สูงจนถ้าขาดงานประจำจะไม่มีเงินส่งงวดผ่อน
– ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา (โดยเฉพาะกรณีโรคร้ายแรง)
– ค่าเลี้ยงดูบุตร
– ภารกิจเรียนต่อปริญญาโท เอก
– ฯลฯ
ถ้าภาระที่กล่าวมามีไม่มากและรับมือได้จากรายได้ในการทำธุรกิจส่วนตัว ผมเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ความเสี่ยงต่ำจนแทบจะควบคุมได้ ถ้าเจ๊งก็กลับมาทำงานธุรกิจและชำระหนี้ได้ไวครับ
5. มองหาหุ้นส่วนด้วยก็ได้ จากนั้นเริ่มลงมือทำทันที ทำเดี๋ยวนี้
หุ้นส่วนคือคนสำคัญหลักๆ คือ ช่วยลดความเสี่ยง และเติมเต็มทักษะความรู้ความสามารถมากขึ้น เข้าทำนองหลายหัวดีกว่าหัวเดียว แต่จงจำไว้ว่าการหาหุ้นส่วนจะต้องแน่ใจว่าปณิธานแน่วหน้าเหมือนกัน มั่นคงทางจิตใจ มีความสามารถ ซื่อสัตย์ ซึ่งไม่ง่ายที่จะหา เขาถึงบอกว่าอย่าเอาเพื่อนมาเป็นหุ้นส่วนเพราะมักมีปัญหาความกระทบกระทั่ง หุ้นส่วนที่ดีควรเป็นคนทำงานที่คุณเห็นฝีมือและไว้ใจได้ ต้องให้ชัดเจนว่าหุ้นส่วนจะช่วยธุรกิจในบทบาทอะไร จากนั้นก็ลงมือทำทันที ทำเดี๋ยวนี้ เพราะอย่าลืมว่าคุณจะไม่มีเงินเดือนกินอีกต่อไปแล้ว ต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่าถ้าไม่ลงมือทำก็ไม่มีกิน หรือไม่มีทางประสบความสำเร็จได้แน่นอน
6. เริ่มต้นธุรกิจด้วยความพยายามเลือกธุรกิจที่แตกต่างจากท้องตลาดเป็นหลัก
ธุรกิจนั้นมีมากมายหลายประเภท คุณสามารถทำธุรกิจร้านตัดผมไปจนถึงเจ้าของเซเว่นได้เลย ซึ่งทุกๆ ธุรกิจนั้นมักมีคนประสบความสำเร็จเสมอ เซเว่นที่เปิดใกล้กันยังมีลูกค้าต่างกันเลย ดังนั้นการเลือกธุรกิจที่ทำจึงสำคัญ คนที่เข้าถึงข้อมูลหรือมีความรู้ในธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่งทำ ไปจนถึงทำนายออกว่าคุณจะเป็นคนแรกๆ ที่ทำให้ตลาดต้องการจนกว่าจะมีคู่แข่ง เขาเรียกว่าการหาธุรกิจสมรภูมิน่านน้ำสีฟ้า (Blue Ocean) ตรงข้ามกับน่านน้ำสีเลือด (Red Ocean) ที่มีคู่แข่งเต็มตลาดจนรวยยาก ซึ่งแม้แต่ร้านกาแฟก็หาบลู โอเชี่ยนได้นะครับ เช่น คุณไปเปิดในสถานที่ทำเลดีแต่ไม่มีร้านกาแฟแจ๋วๆ แม้แต่ร้านเดียว อย่างนี้ก็ถือว่าหาน่านน้ำสีฟ้าเจอครับ
ธุรกิจที่มีคู่แข่งอยู่แล้วควรหาจุดเด่นเพื่อสร้างความแตกต่างให้เจอ เช่น คุณสมบัติที่ดีกว่า งานบริการที่เหนือกว่า เป็นต้น เชื่อผมมั้ยครับว่าธุรกิจที่หลายๆ คนปวดหัวอย่างธุรกิจรับเหมาสร้างบ้าน จนถึงวันนี้ผมยังไม่เจอเลยครับว่าที่ไหนคือเบอร์หนึ่ง สร้างบ้านแล้วชัวร์ ถ้าคุณทำรับเหมาฯ โดยรับประกันคุณภาพงานและการส่งมอบได้ ให้บริการที่ดีกว่า คุณสามารถเอาชนะเหล่าเบอร์หนึ่งตลาดที่ทำธุรกิจนี้มานานเป็นสิบๆ ปีได้เลยด้วยซ้ำ
Comments
0 comments