แชร์ประสบการณ์การขายและทำธุรกิจแบบ B2B กับชาวเวียตนาม
นี่คือประสบการณ์ส่วนตัว กับภารกิจการทำธุรกิจข้ามชาติในภูมิภาค CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) ที่ไม่เคยแชร์ที่ไหนมาก่อนกับ ‘กูนี่แหละเซลล์ร้อยล้าน’
ตอนนี้ผมเป็น MD (Managing Director) ของบริษัทซอฟท์แวร์แห่งหนึ่งแบบ B2B ที่เป้าหมายในตอนนี้คือการบุกตลาดโลก การได้ตำแหน่ง MD ในอายุ 31 ปี นับว่าเป็นการก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ครั้งนึงในชีวิต เพราะผมต้องเปิดการขายและสร้างทีมขายให้สำเร็จด้วยระบบของเซลล์ร้อยล้าน
ผมจึงขอถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผมได้ปีนข้ามกำแพง ‘อายุ’ และ ‘ประสบการณ์’ รวมถึงเป็นการทำการขายแบบ B2B กับชาวต่างชาติ ซึ่งผมพิสูจน์แล้วว่า ‘ระบบการขาย’ ที่เป็นมาตรฐานโดยยึดมั่นความเป็นมืออาชีพนั้นสามารถใช้กับใครก็ได้บนโลกนี้
มาฟังประสบการณ์ที่ผมจะถ่ายทอดสำหรับการทำธุรกิจกับชาวเวียตนามกันดีกว่าครับ
1. ทำนัดแบบ B2B กับลูกค้าชาวเวียตนาม
อาวุธที่ผมมี มีแค่ Linkedin.com หนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้ผมได้นัดกับลูกค้าระดับ C-Level และ Management Level กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในเวียตนาม โดยใช้เทคนิคลับง่ายๆ จากการค้นหารายชื่อ แอดหาผู้มุ่งหวัง (Prospect) และส่งข้อความรัวๆ แบบมีสคริปที่เฉียบคม ซึ่งผมมุ่งหวังเพื่อขอเพียงแค่ ‘ทำนัด’ กับลูกค้าให้ได้เท่านั้น ถ้าคุณตั้งเป้าหมายไว้เฉพาะทำนัด การได้เข้าไปพรีเซนต์ลูกค้าชาวเวียตนามก็ไม่ยากเกินเอื้อม
สิ่งที่ผมทำคือการส่งข้อความเผื่อถามหาอีเมลล์และขอทำนัดให้เฉียบขาด ไม่อ้อมค้อม บอกถึงประโยชน์ของการนัดหมายเชิงธุรกิจที่ลูกค้าจะได้รับ กอปรกับธุรกิจของผมเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลกที่ลูกค้าพูดคำว่าปฎิเสธได้ยาก
2. การนำเสนอด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ
สิ่งที่ผมต้องปีนข้ามกำแพงด้านภาษาไปให้ได้ คือการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและนำเสนอ ผมมีเทคนิคง่ายๆ ที่ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น
อย่างแรก คุณต้องเอาชนะความกลัวไปให้ได้ ไม่ต้องกลัวใครหน้าไหน ไม่ต้องอายว่าคุณจะพูดภาษาอังกฤษแบบผิดๆ ถูกๆ ขอให้คุณกล้าและมีจิตใจที่จะสื่อความหมายให้กับลูกค้าชาวเวียตนามให้พวกเขาเข้าใจเจตนาให้ได้
อย่างที่สอง คือการนึกถึงรูปแบบการนำเสนออย่างเป็นระบบเอาไว้ในหัว จะทำให้คุณมีเรื่องราวที่จะถามลูกค้าและนำเสนอได้อย่างตรงจุด จงเรียบเรียงประโยคและความหมายในหัวให้เรียบร้อย ก่อนที่จะนำเสนอออกไป
อย่างที่สาม การใช้สำเนียง ไหนๆ ผมก็มีโอกาสพบลูกค้าชาวต่างชาติอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะใส่ความ ‘ดัดจริต’ เพิ่มเข้าไปในการพูด นั่นคือการเลียนแบบสำเนียงของฝรั่งอเมริกันที่ผมชื่นชอบในหนัง ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะคล่องปากเอง
3. นิสัยใจคอของชาวเวียตนาม
ผมคิดว่านิสัยของชาวเวียตนามในระดับนักธุรกิจแบบ B2B ต่างกับสิ่งที่คนอื่นบอกเล่าโดยสิ้นเชิง การสนทนากับชาวเวียตนามเต็มไปด้วยความเป็นมืออาชีพ สิ่งที่คาดหวังจากพวกเขาไม่ต่างกับการเข้าพบลูกค้าระดับผู้บริหารในประเทศไทย ที่สำคัญคือพวกเขาใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วจนคนไทยเราเทียบไม่ติดเลยล่ะ
ส่วนลูกทีมของผมที่เป็นชาวเวียตนามโดยเฉพาะ นิสัยส่วนตัวเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่กระหายความก้าวหน้า ซึ่งเขาบอกว่าคนรุ่นใหม่หลายๆ คนในนครโฮจิมินห์ มีความทะเยอทะยานและได้รับการศึกษาในระดับสูง พวกเขาทำงานได้อย่างฉับไว เข้าใจกระบวนการขาย ใจกว้าง พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ จากผมซึ่งเป็นคนไทยและใช้ระบบการขายแบบมืออาชีพที่ผมได้สอนเขาตัวต่อตัวอย่างคล่องแคล่ว
4. ประสบการณ์การเดินทางในการเข้าพบลูกค้าแต่ละที่
การเดินทางภายในประเทศเวียตนาม โดยเฉพาะมหานครโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งมีความทันสมัยที่สุดของเวียตนาม มีบริษัทข้ามชาติระดับโลกหลายบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ถ้าเทียบกับเมืองไทย พวกเขามีพื้นที่ที่จำกัดกว่าเมืองไทย มีเขตสำนักงานออฟฟิศอยู่ไม่กี่เขต (CBD: Central Business District) เทียบกับไทยก็เหมือนกับมีแค่ย่านสีลม-สาธร แค่นั้น ไม่มีย่านอโศก สุขุมวิท รัชดา ฯลฯ เหมือนไทยเรานั่นเอง
ซึ่งข้อดีที่เกิดขึ้นคือการเดินทางไปพบลูกค้าแต่ละที่นั้นมีความง่าย คุณแทบไม่ต้องพึ่งแท็กซี่ รถไฟฟ้า (ซึ่งไม่มี) โดยใช้เพียงแค่สองเท้าย่ำไปตามถนนก็พบกับลูกค้าอีกสำนักงานได้แล้ว หรือบางอาคาร เป็นศูนย์รวมของบริษัทชื่อดังที่คุณเพียงแค่ถ่ายรูปชื่อบริษัทเอาไว้แล้วทำนัดทีเดียวภายในตึกนั้นไปเลยก็ยังได้
แท็กซี่มิเตอร์บ้านเขา
การนั่งแท็กซี่ก็ไม่แพงมากนัก รถมีหลายขนาด ราคาก็คล้ายๆ กับเมืองไทย เพียงแต่คุณต้องเจอรถติดกับการขับขี่ของแท็กซี่ที่น่าหวาดเสียวหน่อยๆ (ฮา..) แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าคุณอยู่กรุงเทพได้ คุณจะไปอยู่ไหนบนโลกนี้ก็ได้ทั้งนั้น เวียตนามอาจจะฮาร์ดคอร์กว่ากรุงเทพเล็กน้อย
5. อาหารการกินและค่าใช้จ่ายที่เวียตนาม
เฝอ อาหารประจำชาติชาวเวียตนาม (มีกลิ่นปลาร้าด้วย T__T)
อาหารที่คนไทยรู้จักกันดีและกินง่ายๆ ก็คือเฝอ (Pho) ซึ่งก็คือก๋วยเตียวบ้านเรานี่เอง ราคาก็ย่อมเยาว์ 40-50 บาท ถ้าในห้างก็แพงกว่าหน่อย ประมาณ 80 นอกนั้นก็เป็นพวกข้าวผัด สเต๊ก อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งแทบไม่ต่างกับไทยเลย
เหล้า เบียร์ ไวน์ ก็ไม่แพงมาก แถมยังบริการดีอีกต่างหาก พวกเขาส่วนใหญ่ขยันและมีเซอร์วิสไมนด์ (Service Mind) ที่ยอดเยี่ยม เป็นเพราะว่าบ้านเมืองเขามีประชากรเยอะมาก (ราวๆ 90 ล้านคน) และมีงานให้ทำน้อย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องขยันและรักษางานของพวกเขาสุดชีวิต
การทำธุรกิจกับชาวต่างชาติจนประสบความสำเร็จ นับว่าเป็นการก้าวกระโดดและปีนข้ามกำแพงประสบการณ์ของผมไปเลยล่ะครับ หวังว่าทุกคนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ของผมนะครับ
Comments
0 comments