ความแตกต่างระหว่างนักขายบริษัทเล็กกับบริษัทยักษ์ใหญ่

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะเปรียบเทียบขนาดขององค์กรแต่อย่างใดนะครับ เพียงแต่ต้องการเขียนเป็นทางเลือกในการทำงานอาชีพนักขาย เผื่อว่าคุณมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิตหรือต้องการเริ่มต้นสมัครงานตำแหน่งนักขายครับ และบทความนี้ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะต้องเป๊ะตามที่ผมเขียน 100% นะครับ เพราะผมใช้ประสบการณ์จากการทำงานในชีวิตจริงมาเขียนให้สำหรับคนที่ต้องการรู้ถึงความแตกต่างระหว่างองค์กรใหญ่กับองค์กรเล็ก

เปรียบได้กับการเป็นนักเตะกองหน้าในทีมเล็กและทีมใหญ่นั่นแหละครับ ถ้าคุณอยู่ทีมเล็กและยิงประตูได้สม่ำเสมอ คุณจะเปรียบเสมือนคนแบกทีมเลยก็ว่าได้ เสียคุณไปไม่ได้เด็ดขาด ส่วนองค์กรใหญ่นั้น ความกดดันย่อมสูงลิบแน่นอน ถ้ายิงไม่ได้ก็เตรียมโดนจับนั่งข้างสนามและขายทิ้งได้เลย แสดงว่าทีมใหญ่และทีมเล็กย่อมมีความแตกต่างทั้งดีและไม่ดี ผมจึงขอแชร์ประสบการณ์โดยตรงเพื่อให้คุณได้ใช้เป็นทางเลือกในอนาคตครับ

1. เงินเดือนตอนเริ่มต้นงานใหม่

ต้องขอบอกว่าองค์กรใหญ่ได้เปรียบในเรื่องนี้พอสมควร ค่าตอบแทนเป็นไปแบบมาตรฐานองค์กรใหญ่ซึ่งมีเพดานค่าเหนื่อยตาม “ราคาตลาด” เช่น องค์กรบริษัทข้ามชาติหรือมหาชนมีราคาตลาดสำหรับเด็กจบใหม่ประมาณ 15,000-20,000 คุณจึงมีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนเท่ากับหรือสูงกว่าราคาตลาด เป็นต้น ซึ่งองค์กรเล็กก็มักจะได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่าราคาตลาดอยู่หน่อยๆ เพราะคุณเป็นเด็กจบใหม่ หรือถ้าเป็นตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะองค์กรใหญ่มักประเคนค่าเหนื่อยได้สูงกว่าเนื่องจากทีมขายมีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็ไม่แน่เสมอไปสำหรับองค์กรเล็ก เพราะบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้เงินระดมทุนเยอะๆ ก็จ้างพนักงานค่าตัวแพง จบมหาวิทยาลัยดังได้เช่นกัน

2. ค่าคอมมิชชั่น

ค่าคอมมิชชั่นมักมีความแตกต่าง องค์กรใหญ่จะมีโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นที่ค่อนข้างรัดกุมกว่า โดยเฉพาะบริษัทระดับโลกที่อาจจะมีความยุ่งยาก เช่น ค่าคอมมิชชั่นจะได้จากฐานเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็น หรือมีค่า Incentive (ค่าจูงใจ) ในสินค้าบางรายการ ซึ่งเอาตรงๆ คือค่าคอมฯ อาจจะไม่สูงมากนักเนื่องจากองค์กรใหญ่ต้องการเซฟค่าใช้จ่ายด้วยระบบการทำงานที่ไม่พึ่งพาตัวบุคคลมากนัก มีตัวตายตัวแทนได้ตลอด ส่วนองค์กรเล็กจะมีโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นที่เข้าใจง่าย เช่น คิดจากยอดขาย คิดจากกำไร ขายมากเท่าไหร่ก็ได้ค่าคอมฯ ตามนั้น ดังนั้นยิ่งคุณปั้นยอดขายได้มากตามที่องค์กรกำลังโต คุณมีสิทธิ์ได้ค่าคอมฯ เป็นแสนเป็นล้านได้ง่ายๆ เลย

3. เขตการวิ่ง

บริษัทเล็กที่กำลังหิวลูกค้าใหม่มักเปิดโอกาสให้นักขายทำงานสไตล์ “ไล่ล่าฆ่ามัน” คือยิ่งปิดลูกค้าใหม่ได้มากและทำให้ซื้อซ้ำก็ยิ่งมีสิทธิ์ในการดูแลลูกค้าเป็นของตนเองเท่านั้น ทำให้ระยะยาวสามารถเป็นเสือนอนกินที่ทำงานสบาย ได้ค่าคอมฯ เข้าทุกเดือน เพียงแต่จะเหนื่อยแค่ตอนแรกๆ เพราะต้องปั้นลูกค้าใหม่ให้ได้ แต่สำหรับบริษัทใหญ่มักแบ่งเขตการวิ่งชัดเจน เพราะองค์กรดัง มีชื่อเสียง มีลูกค้าขาประจำและไม่ประจำอยู่แล้ว ทำให้ขายง่ายและต้องใช้นักขายจำนวนมาก คุณจึงได้รับรายชื่อลูกค้าหรือถูกแบ่งเขต ซึ่งก็ดีตรงทำงานง่าย ไม่ต้องเหนื่อยหาลูกค้า แต่ขีดจำกัดคือจำนวนลูกค้าที่จะไปเหยียบตาปลาใครไม่ได้ ทำให้ค่าคอมฯ ที่ได้มีจำกัด ซึ่งเรื่องนี้ก็สัมพันธ์กับค่าคอมมิชชั่นยังไงล่ะครับ 

4. โครงสร้างองค์กร

ง่ายมากๆ สำหรับเรื่องนี้ องค์กรเล็กจะดีตรงที่คุณมีโอกาสได้ทำงานกับเจ้าของบริษัทโดยตรง ทำให้อำนาจแทบจะล้นมือ แถมถ้าทำงานดี หาเงินเข้าบริษัทได้เยอะๆ คุณยิ่งมีสิทธิ์เป็นลูกรักที่เจ้านายแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการได้เร็วมากๆ แต่อาจจะทำงานเหนื่อยมากเพราะต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ส่วนองค์กรใหญ่นั้นมีคนมากมาย มีทีมงานพร้อมช่วยเหลือ มีหัวหน้าบนหัวหลายคน ซึ่งก็ดีในเรื่องของการแบ่งอำนาจรับผิดชอบ แต่ข้อเสียคือถ้าเจ้านายห่วยและมีขั้นตอนอนุมัติหลายขั้นซึ่งแค่คิดก็ปวดหัวแล้ว ความห่างระหว่างระดับผู้บริหารกับคุณจึงมีมาก การทำงานอาจจะยุ่งยากกว่าทำงานกับบริษัทเล็กก็ได้

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น