วิธีใช้ลิ้งก์อิน (LinkedIn) เพื่อทำนัดลูกค้า
ลิ้งก์อิน (LinkedIn) เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับคนทำงานแบบองค์กร (ฺB2B) เป็นหลัก แปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือโซเชี่ยลมีเดียสำหรับ “ลูกจ้าง” หรือ “พนักงาน” แบบเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ พูดได้ว่าทุกอย่างมีความคล้ายและเรียกว่าเป็นเฟซบุ้คสำหรับคนทำงานเลยก็ว่าได้
ถ้าคุณติดตามบทความผมอยู่เป็นประจำก็จะรู้ว่าผมพูดถึงลิ้งก์อินอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการใช้ลิ้งก์อินให้เป็นเครื่องมือหาลีดลูกค้าใหม่ ซึ่งความเจ๋งของมันก็คือตัวของแพลทฟอร์มจะมีรายชื่อคนทำงานตามบริษัทต่างๆ ไล่ตั้งแต่ระดับเด็กจบใหม่ ไปจนถึงผู้จัดการ ผู้บริหาร ซีอีโอ กันเลยทีเดียวครับ ที่สำคัญคือมีข้อมูลของคนทำงานบริษัทชื่อดังอยู่เยอะมาก แทบจะทุกศาสตร์ทุกแขนง
ข้อมูลที่สำคัญสำหรับคนที่คุณได้เพิ่มเป็นเพื่อนและได้รับการตอบรับเรียบร้อยแล้วก็คือ “เบอร์โทรมือถือ” นั่นเองครับ ทำให้คุณสามารถโทรนัดลูกค้ามุ่งหวังได้โดยตรง นี่คือวิธีทำนัดจากข้อมูลด้านโซเชี่ยลมีเดียที่ง่ายที่สุดแล้ว
แต่อะไรๆ มันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะหลายๆ คนก็ไม่มีเบอร์โทรติดต่อ ทำให้คุณทำได้เพียงแค่จำชื่อและตำแหน่งแล้วโทรตรงผ่านโอเปอเรเตอร์เท่านั้น ซึ่งหลายๆ บริษัทระดับสูงก็ค่อนข้างยุ่งยากที่ฝ่ายรับแขกจะโอนสายตรงไปถึงผู้บริหาร ถ้าทำได้ก็ต้องบอกว่าฟลุ้กเลยล่ะครับ
คุณอาจจะรู้สึกว่าหนทางในการทำนัดกับผู้บริหารมันช่าง “ริบหรี่” ซะเหลือเกิน (ฮา) ผมจึงมีวิธีใหม่ ที่สามารถใช้ลิ้งก์อินในการทำนัดลูกค้าได้ด้วยครับ แถมยังไม่ต้องเสียเวลาโทรศัพท์อีกต่อไป
1. ใช้ฟังก์ชั่น “Message” เพื่อใช้ส่งข้อความผ่านอินบ็อกซ์
ลิ้งก์อินจะมีฟังก์ชั่นส่งข้อความ (Message) คล้ายๆ กับอินบ็อกซ์ของเฟซบุ้ค ซึ่งไอ้เจ้าเมนูนี้แหละครับที่ทำให้คุณทักลูกค้าได้โดยตรงเลย เป็นการใช้โซเชี่ยลมีเดียเต็มรูปแบบเพื่อคุยงานเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือไม่ต้องรวบรวมความกล้าในการโทรหาใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่ทักเข้าไปในช่วงเวลางานแล้วก็รอให้ลูกค้าอ่าน ซึ่งจะรู้ว่าพวกเขาอ่านไม่อ่านก็เหมือนกับเฟซบุ้คที่เวลาคุณส่งข้อความแล้วมันบอกว่า “ขึ้น Read” ที่หมายถึงอีกฝ่ายได้อ่านข้อความเรียบร้อยแล้วเหมือนกับไลน์ คุณจึงใช้ช่องทางนี้ในการติดต่อกับพวกเขาทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนได้เลย
2. สร้างสคริปต์การคุยผ่านข้อความที่ดีก่อน
พูดถึงเรื่องสคริปต์ย่อมมีความสำคัญกันตั้งแต่สคริปต์โทรหาลูกค้าใหม่ที่ดีเลยล่ะครับ การส่งข้อความเองก็เช่นเดียวกัน ทุกอย่างควรมีรูปแบบหรือสคริปต์ที่ดีและน่าเชื่อถือ แต่ด้วยความที่หลายๆ คนยึดติดกับสคริปต์แบบทางการเหมือนการส่งอีเมลล์แนะนำสินค้าหรือบริการมากเกินไป ซึ่งมักจะมีความยาวและอ่านดูก็รู้ว่าเป็นสคริปต์ที่ก็อปมาแบบโฆษณาทางอีเมลล์ ทำให้ลูกค้าขี้เกียจหรือรู้สึกว่าตัวเองกำลัง “โดนขาย” ยังไงล่ะครับ คุณจึงต้องมีสคริปต์ที่ “เรียล” มีความสมจริง มีความเป็นคน (ฮา) เพื่อทำให้ลูกค้าตอบกลับ ตัวอย่างเช่น
สคริปต์แนะนำตัวที่ดี
“สวัสดีครับ ผมชื่อแพน เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ของบริษัท xxx ครับ” – ส่งข้อความแรก
“บริษัทของผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ซึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้ลูกค้า” – ข้อความที่สอง
“ผมมีพอร์ทที่ใกล้เคียงกับธุรกิจของลูกค้าคือตัวอย่างงานของบริษัท xxx ที่อยากแชร์ประโยชน์ตรงนี้” – ข้อความที่สามที่อ้างความน่าเชื่อถือ
“จึงอยากรบกวนขออีเมลล์บริษัทหรือเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าเพื่อส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และโทรไปเล่า ใช้เวลาไม่นานครับ” – ข้อความสุดท้ายที่มุ่งหวังเรื่องอีเมลล์และเบอรโทรทำนัด
สคริปต์ที่ดีไม่จำเป็นต้องยาว เอาสั้นๆ เนื้อๆ ที่ทำให้ลูกค้าอ่านและตอบกลับเพราะสนใจกับสิ่งที่คุณพิมพ์ คุณจึงคาดหวังอีเมลล์หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของพวกเขาได้ นี่คือวิธีที่สุภาพและยอดเยี่ยมสำหรับการคุยกับคนที่คุณไม่รู้จักมาก่อนนั่นเองครับ
3. คาดหวังกับอีเมลล์ของลูกค้าเพื่อส่งข้อมูลและตามทำนัดทีหลัง
สิ่งที่ผมคาดหวังจากการแชทไปคุยกับลูกค้าก็คือทำให้พวกเขายอมให้อีเมลล์กับคุณ เพื่อให้คุณได้ไปต่อด้วยการส่งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท สินค้าและบริการ เพื่อให้คุณได้ส่งอีเมลล์ให้ลูกค้าอย่างเป็นทางการพร้อมระบุวันและเวลาที่คุณต้องการให้พวกเขาพิจารณาทำนัด จากนั้นก็รอการตอบกลับ ถ้าพวกเขาหายไปนาน คุณก็ยังสามารถติดตามผลเพื่อให้เกิดการทำนัดผ่านอีเมลล์ลูกค้าได้เรื่อยๆ นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำนัดกับบุคคลระดับผู้บริหารที่คุณสามารถส่งข้อความหาใครก็ได้ กี่คนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้แบบง่ายๆ เลยล่ะครับ
นี่คือหนึ่งในสุดยอดเทคนิคที่ผมใช้ทำนัดลูกค้าระดับสูงทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนนั่นเองครับ เชื่อผมเถอะว่าไม่มีเซลล์เทรนเนอร์คนไหนทำได้ขนาดนี้แน่นอน
Comments
0 comments