เหตุผลดีๆ ที่ทำให้คุณลาออกจากงานได้แบบหล่อๆ

เข้าสู่ช่วงปลายปีกันเรียบร้อยแล้วล่ะครับ อีกเดือนเดียวก็จะถึงโค้งสุดท้ายช่วงสิ้นปีกันแล้ว (เดือนนี้เดือนพฤศจิกายน 62) หลายๆ คนคงเริ่มคิดถึงการลาออกจากงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การลาออกจากงานไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวเสมอไป แต่สำหรับใครหลายๆ คนหมายถึงการได้รับโอกาสที่ดีกว่า การก้าวออกมาจากโซนสบาย (Comfort Zone) ที่หมายถึงการออกไปหางานใหม่ที่มันท้าทายความสามารถของตนเองมากกว่าเดิม รวมไปถึงโอกาสในความก้าวหน้า รายได้ และอนาคต ตามที่ตัวเองได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

ช่วงปลายปีหลังการรอลุ้นโบนัสจึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเปลี่ยนงานใหม่เลยก็ว่าได้ แต่หลายๆ คนก็มีความรู้สึกที่จุกอยู่ในอก (Gut Feeling) หลังจากที่มีความทรงจำดีๆ จากการร่วมหัวจมท้ายไปกับทีม ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลวมาด้วยกัน โดยเฉพาะกับคนที่เป็น “หัวหน้างาน” ตั้งแต่ผู้จัดการ ผู้บริหาร ไปจนถึงเจ้าของ

เหตุผลนี้เองจึงทำให้คุณรู้สึกหนักใจ ลามไปถึงความรู้สึกที่ว่าคุณอาจจะลาออกไปแบบ “จบไม่สวย” โดยเฉพาะกับหัวหน้างานหรือเจ้าของที่มีอิทธิพลในวงการธุรกิจที่คุณอยู่ในสายงาน การหาเหตุผลที่ดีในการลาออกอย่างรอบคอบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อความรู้สึกของใครหลายๆ คน

ผมเองมีประสบการณ์ขอลาออกที่ครบทุกรสชาติทั้งแบบเจ้านายเกลียดขี้หน้าจนถึงการเป็นผู้ขอลาออกแบบที่เจ้านายไม่อยากจะเสียผมไปและจากกันด้วยดี ผมจึงขอรวบรวมเหตุผลดีๆ เพื่อให้คุณเตรียมตัวลาออกไปหาความท้าทายใหม่ๆ ในปีหน้าดังนี้ครับ

1. คุณเจอโอกาสใหม่ที่ดีกว่า (ได้งานใหม่)

เป็นเหตุผลที่เรียบง่ายและไม่ต้องอ้อมค้อมอะไรมาก การพูดไปตรงๆ ว่าคุณได้งานที่ไหนและทำให้คุณรู้สึกอยากไปร่วมงานด้วยอย่างไรคือหนึ่งในเหตุผลที่ดีที่สุด ขออย่างเดียวคือคุณต้องได้รับสัญญาจ้างงานและเซ็นลงนามให้เรียบร้อยก่อนพูด จงบอกหัวหน้าให้สุภาพว่าคุณรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับหัวหน้าของคุณในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่การได้โอกาสใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่คุณปฎิเสธไม่ได้เช่นกัน สุดท้ายนี้คุณจึงอยากเป็นผู้บอกหัวหน้าเกี่ยวกับความรู้สึกดีๆ และอยากรักษาความสัมพันธ์กับพวกเขาเอาไว้นานๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ร่วมงานกันอีกก็ตาม เหตุผลนี้หล่อมากครับ

2. คุณบรรลุเป้าหมายทุกอย่างในบริษัทนี้แล้ว

เป็นเหตุผลที่บ่งบอกให้พวกเขารู้ทางอ้อมว่าคุณ “หมดความท้าทาย” เกี่ยวกับงานที่ทำในปัจจุบันทั้งหมดแล้ว เช่น คุณเป็นท็อปเซลส์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมจนมีบริษัทอื่นยื่นตำแหน่งผู้จัดการหรือผู้บริหารฝ่ายขายให้คุณ คุณรู้สึกว่าการทำยอดให้สูงกว่า 100% เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับคุณ จึงพูดได้เลยว่าคุณรู้สึกอิ่มตัวแล้ว จึงถึงเวลาที่คุณต้องออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ กับตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น เหตุผลนี้ส่วนใหญ่หัวหน้าของคุณจะไม่ยอมเสียคุณไป คุณจึงมีอำนาจต่อรองกับพวกเขาได้และเผลอๆ คุณจะได้ทั้งเงินทั้งตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นโดยไม่ต้องย้ายไปไหนด้วยครับ (ฮา)

3. คุณอยากเปลี่ยนสายงาน

เป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้านายคุณเห็นใจและเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณ เช่น คุณทำงานในตำแหน่งนักขายแต่รู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นไม่ใช่ตัวตนของคุณ ถึงแม้ว่าผลงานใช้ได้ก็ตามที คุณอาจจะอยากทำงานด้านการตลาดมากกว่าการขาย คุณจึงบอกหัวหน้าไปตรงๆ ว่าคุณต้องการเปลี่ยนงานไปทำสิ่งที่คุณชื่นชอบหรือเป็นแพชชั่นที่แท้จริงของคุณมากกว่า เหตุผลนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมาและหัวหน้าโน้มน้าวให้คุณกลับมาทำงานขายเหมือนเดิมได้ยากมาก เป็นต้น เหตุผลนี้เอาไว้ใช้กับการทำงานที่รู้ตัวว่าผลงานไม่ดีจึงขอลาออกเพื่อไปเริ่มต้นกับที่ใหม่ก็ได้

4. คุณต้องการเวลาเพื่อเรียนต่อ

เป็นเหตุผลที่ถึงแม้ว่าคุณจะไปเรียนจริงหรือไม่เรียนจริง (ฮา) ก็ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ เพราะคุณสามารถพูดได้ว่าการเรียนต่อปริญญาโททั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับวุฒิการศึกษาของคุณ การเรียนในหลักสูตรมาตรฐานจำเป็นต้องอุทิศเวลาในการศึกษาร่ำเรียนเป็นอย่างมาก โดยคุณสามารถบอกหัวหน้าได้อีกว่าถ้าเรียนจบแล้วก็จะกลับมาทำงานกับพวกเขา ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะกลับมาทำหรือไปทำบริษัทอื่นก็ได้

5. คุณต้องการกลับไปช่วยกิจการที่บ้าน

เป็นเหตุผลพื้นๆ สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางบ้านและมีอันจะกิน ถ้าคุณมีโปรไฟล์ที่ดีหรือเป็นเด็กบ้านรวยอยู่แล้ว หัวหน้าคุณคงเตรียมใจว่าคุณต้องใช้เหตุผลนี้ในการลาออกตั้งแต่วันแรกที่คุณเข้ามาสมัครงานแล้วล่ะครับ การกลับไปทำกิจการที่บ้านเป็นเหตุผลที่เจ้านายย่อมมีความเข้าใจและจำเป็นต้องปล่อยคุณไปในเส้นทางชีวิตที่คุณเป็นผู้ตัดสินใจเลือก แต่เหตุผลนี้ก็มักจะเป็น “เหตุผลหลอกๆ” สำหรับคนที่ต้องการลาออกแต่ไม่ได้มีกิจการอยู่ที่บ้านอยู่จริงด้วยเช่นกัน หรือถ้าคุณต้องการออกไปทำธุรกิจส่วนตัวด้วยตนเองก็จงบอกหัวหน้าว่าคุณต้องการไปทำธุรกิจของตัวเอง ง่ายๆ แค่นี้เองครับ

นี่คือ 5 เหตุผลหล่อๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้ได้เวลาที่คุณต้องการลาออกนะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น