วิธีการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พวกเรามีความประเสริฐเหนือสัตว์ใดๆ ทั้งปวงก็คือการสร้างสังคมที่มีกฎและกติกา มีสิทธิ์และหน้าที่ตามข้อกำหนดของแต่ละสังคม เรียกได้ว่าเราเรียนรู้การอยู่ร่วมกับสังคมต่างๆ ต่างแต่จำความได้เลยก็ว่าได้
ไล่ตั้งแต่สังคมสมัยเด็กอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ครอบครัว ญาติ เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง ฯลฯ โดยเฉพาะสังคมแห่งการทำงานที่คุณครูจะสั่งงานกลุ่มกับคุณตั้งแต่ช่วงประถมปลาย แล้วตัวคุณเองก็มักจะโผล่หัวออกมาทำงานก็ตอนที่ไฟล้นก้นแล้ว ไม่ก็เป็นหน่วยแจกเสบียงให้กับเด็กรุ่นตัวหลักไปงั้นๆ (ฮา)
หมายความว่าคุณเรียนรู้ “การทำงาน” ร่วมกับเพื่อน ที่ในสังคมปัจจุบันจากการเข้าสู่ตลาดงานแบบองค์กร คุณจึงเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า “เพื่อนร่วมงาน” แล้วล่ะครับ เพียงแต่สังคมแห่งการทำงานไม่ได้ง่ายเหมือนกับสังคมสมัยเรียนเท่านั้นเอง เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกัน เช่น อายุ เพศ การศึกษา ตำแหน่ง ประสบการณ์ เป็นต้น เอาแค่เรื่องพวกนี้คุณก็รู้ดีแล้วว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะบริหารความสัมพันธ์เพื่อนร่วมงานให้ดี
ไม่นับว่าพวกเขามี “ภูมิหลัง” (Background) ต่างกันแบบ “ร้อยพ่อพันแม่” ผลกระทบจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดี อาจส่งผลเสียต่อการทำงานถึงขั้น “ไม่มึงก็กู” ที่ต้องออกไป แถมถึงขั้นไม่เผาผีเลย
ผมจึงขอแชร์วิธีการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานให้มีความราบรื่นและเป็นที่รักใคร่ เพราะผมเองก็พลาดมาเยอะ จึงอยากบอกทุกคนเพื่อไม่ให้พลาดเหมือนผมในอดีตครับ
1. อย่าตัดสินใครก็ตามถ้าไม่รู้จักพวกเขาดีพอ
การตัดสินใครซักคนจากคำบอกเหล่าหรือมองเห็นแค่สายตา เช่น คนอื่นนินทาบอกเล่ามา บุคลิกไม่เข้าท่าหรือหน้าตาของเขาผู้นั้นกวนตีน (ฮา) จงอย่ารีบตัดสินพวกเขาด้วย “อคติ” (Prejudice) ว่าพวกเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ในทางที่ไม่ดี ทำให้คุณไม่อยากยุ่งหรือไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย อคติที่เกิดขึ้นและตัดสินคนคนนั้นไปแล้ว ทำให้คุณอาจพลาดโอกาสในการทำความรู้จัก “เนื้อแท้” ของพวกเขาไปอย่างน่าเสียดาย แถมอคติที่ปิดบังเอาไว้ไม่มิดแบบออกนอกหน้า อาจทำให้พวกเขาอ่านคุณออกและเกลียดคุณไปเลยก็ได้ คุณต้องระวังสถานการณ์เรื่องการตัดสินคนอื่นถ้าไม่ได้เกิดจากตัวคุณกับเขาโดยตรงจริงๆ นะครับ
2. มีส่วนร่วมกับทีมตามสมควร
การมีส่วนร่วมกับทีมไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ในเฉพาะเวลางานเท่านั้น การให้เวลาแก่พวกเขานอกเวลางานหรือช่วงพักงาน เช่น กินข้าวกลางวันร่วมกัน ทานข้าวเย็น ปาร์ตี้กลางคืน หรือกิจกรรมท่องเที่ยว เล่นกีฬาในวันหยุด ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่คุณควรสละเวลา เพราะเป็นวิธีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมากๆ แถมยังเปิดโอกาสให้คุณได้รู้จัก “ตัวตน” ของพวกเขานอกเหนือจากงานอีกด้วย บางมุมมองพวกเขาอาจมีอะไรที่คล้ายกับคุณ เช่น งานอดิเรก เป้าหมายในชีวิต รสนิยม ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างความสนิทสนมเหนือจากเรื่องงานได้ดีขึ้น
3. ระวังเรื่องการพูดจาที่ค่อนข้างล่อแหลม
อย่างที่ผมบอกตั้งแต่แรกว่าเพื่อนร่วมงานของคุณมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน ร้อยพ่อพันแม่ คุณไม่รู้ว่าพวกเขาเคยเจออะไรมาบ้าง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น ปมด้อยต่างๆ การรับแรงกดดัน ความอ่อนไหวทางอารมณ์ ฯลฯ คุณไม่ควรเอาอารมณ์หรือเหตุผลของคุณเป็นตัวตั้งเป็นอันขาดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การล้อเลียนปมของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แล้วมองว่าเป็นเรื่องตลกโปกฮา หรือถ้าเป็นคุณก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เรื่องแบบนี้อาจไปกระทบความรู้สึกของพวกเขาจนเกิดการผิดใจกันเลยก็ได้
ความน่ากลัวของเรื่องนี้คือหลายๆ คนไม่กล้าบอกกับคุณตรงๆ ว่าพวกเขารู้สึกไม่ดี จึงเก็บความรู้สึกผิดหวังเอาไว้คนเดียวแล้วค่อยๆ เอาตัวออกห่างจากตัวคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งมารู้ทีหลังคุณก็อาจจะถูกหมางเมินหรือโดนแบนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วล่ะครับ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไรเลยถ้าคุณแคร์ความรู้สึกของคนอื่นหรือคุณเปิดใจรับฟังถ้าพวกเขาบอกคุณตรงๆ ว่าไม่ชอบสิ่งที่คุณพูด สังคมออฟฟิศค่อนข้างจะอ่อนไหวกับเรื่องการล้อเลียนหรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการเสียหน้าและเสียความรู้สึก คุณจึงต้องระวังเรื่องการพูดจาเอาไว้มากๆ
4. มองหาเพื่อนที่น่าจะเป็นคนสนิทกับคุณได้
ขนาดขององค์กรมีผลต่อความห่างเหินของพนักงาน เพื่อนร่วมงานของคุณเองก็เช่นเดียวกัน ยิ่งทำงานบริษัทใหญ่โต คุณยิ่งมีโอกาสไม่รู้จักคนในแผนกอื่นมากขึ้น แต่องค์กรใหญ่ก็ยังมีแง่ดี นั่นคือการหาเพือนสนิทต่างแผนก ต่างวัย ที่มีนิสัยหรือรสนิยมที่เข้ากันได้ คุณจะได้ทำความรู้จักคนอื่นๆ มากขึ้น หรือถ้าคุณรู้สึกอึดอัดและไม่ได้อยากมีเพื่อนเยอะอะไร จงมองหาคนที่คุณสามารถสนิทได้อย่างสนิทใจให้ไว พวกเขาสามารถช่วยเหลือคุณยามขับขันนอกจากเรื่องงานไปจนถึงเรื่องส่วนตัวได้ เพราะการทำงานหรือการใช้ชีวิตไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ถึงคราวซวยแล้วถ้าคุณไม่มีใคร คุณจะเดือดร้อนอย่างมาก การมีมิตรแท้ในที่ทำงานเดียวกันคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมราวกับเจอสาวในฝันเลย
5. เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น จงรีบขอโทษทันที
คนเราทำอะไรย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาไม่เข้าหูคนอื่น การทำงานที่ถ่วงผู้อื่น การกระทำบางอย่างที่ไม่เข้าตา เมื่อคุณรับรู้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คุณต้องอย่านิ่งเฉยและพยายามเข้าไปขอโทษคู่กรณีต่อหน้าแบบจริงใจทันที อย่าสำคัญตัวเองและมีทิฐิว่าตนเองนั้นไม่ผิดหรือผิดน้อย ความเป็นมืออาชีพที่แท้จริงคือการกล้าทำและกล้ารับผิด คำขอโทษจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างแน่นอน ต่อให้ต้องใช้เวลาในการสมานแผลใจ คุณก็ย่อมรอได้และพร้อมที่จะปรับปรุงตัวไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั้นอีก ในชีวิตคนเรานั้น ไม่มีใครไม่ชอบหรือปฎิเสธคำขอโทษอย่างจริงใจจากฝ่ายตรงข้ามได้หรอกครับ คุณไม่ได้ไปฆ่าใครตายหรือคดโกงอะไรพวกเขานี่นา
6. พยายามควบคุมไม่ให้พูดแต่เรื่องของตัวเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนิสัยและภูมิหลังของแต่ละคน คนที่มีแนวโน้มเป็นพวก “Extrovert” ซึ่งเป็นพวกกล้าแสดงออก ชอบเข้าสังคม ช่างพูดช่างคุย จะมีจุดอ่อนในเรื่องนี้มากกว่าพวก “Introvert” ซึ่งเป็นผู้ที่ชอบฟังมากกว่า การช่างพูดช่างคุยแบบไม่สังเกตตัวเองและรู้สึก “สำคัญตัวเอง” จะทำให้คุณพลาดเกี่ยวกับการพูดแต่เรื่องของตัวเองทีละน้อยๆ จนก่อให้เกิดความรำคาญต่อคู่สนทนาได้ โดยเฉพาะการคุยเกี่ยวกับวัตถุ ความร่ำรวย การศึกษา พูดแต่เรื่องของคนอื่น นินทาว่าร้ายผู้อื่น อะไรทำนองนี้
จุดตายของเรื่องนี้คือคุณคิดไปเองและเปิดใจกับเพื่อนร่วมงาน จึงเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พวกเขาฟังแบบไม่กั้กเพราะไว้ใจ แต่หารู้ไม่ว่าบางอย่างอาจไม่เข้าหูพวกเขา คุณจึงอาจเป็นคนที่โดนเพื่อนๆ ถอยห่างไปแบบไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ การพูดแต่เรื่องของตัวเองขนาดลูกค้ายังไม่ชอบและไม่ซื้อคุณเลย แล้วเพื่อนร่วมงานของคุณจะทนคุณได้เหรอ การฟังที่ดีต่างหากถึงจะทำให้พวกเขาเปิดใจและไว้ใจคุณ พยายามใช้ทักษะการถามคำถามที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานของคุณ คุณย่อมได้รับความไว้วางใจและน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ต่อให้พวกเขาขี้โม้ คุณก็ต้องรับฟังครับ
7. อยากให้พวกเขาทำสิ่งใดให้คุณ จงทำสิ่งนั้นต่อพวกเขาก่อน
ผู้ใหญ่หลายยุคหลายสมัยมักสอนเรื่องนี้ในการทำงานแก่คุณอยู่เสมอ ถ้าอยากให้เพื่อนร่วมงานรักและสนับสนุนคุณ คุณก็ต้องสนับสนุนพวกเขาก่อน เช่น การชมเชยเพื่อนร่วมงาน ให้เกียรติ ให้เครดิตอย่างจริงใจ เป็นต้น วิธีคิดแบบนี้เป็นอะไรที่ง่ายๆ และสามารถลงมือทำได้ทันที
8. บริหารเสน่ห์แบบง่ายๆ ด้วยการ “ล้อตัวเอง”
ถ้าล้อคนอื่นจนเบื่อแล้ว ลองเปลี่ยนมาเป็นการล้อตัวเองดูบ้างมั้ย การล้อตัวเองจะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าคุณเป็นคนที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ถือตัว แถมยังช่วยให้คนที่มีปมด้อย โดยเฉพาะด้านรูปร่างหน้าตา สามารถเอามาเป็นปมเด่นของตัวเองแบบมีจุดขายน่ารักๆ ได้อีกด้วย เช่น คุณเป็นคนหัวล้าน แต่ก่อนคุณไม่ชอบให้ใครมาล้อว่าหัวล้าน คุณจึงล้อตัวเองเวลามีสถานการณ์ที่เป็นใจตอนแดดอออก คุณจึงล้อตัวเองว่า
“ทุกคน วันนี้ออกมากินข้าวกลางวันข้างทางอาจจะร้อนกว่าปกตินิดนึงนะ เพราะมีดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกดวงก็คือหัวผมนี่แหละ 555”
เชื่อผมมั้ยครับว่ามันเป็นการปลดล๊อกปมด้อยทุกอย่างเกี่ยวกับตัวคุณเลย แถมยังสร้างเสียงหัวเราะแบบมีเสน่ห์ เข้าถึงงาน และพวกเขาจะไม่กล้าล้อคุณอีกด้วยครับ
9. อย่าเนียนเรื่องการจ่ายเงิน
เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นอีกเช่นกันเวลาที่คุณไม่มีตังหรือไม่พร้อมจ่าย เมื่อถูกชวนออกไปกินข้าวหรือทำอะไรที่มีการหารเงินกัน ถ้ารู้ตัวว่าไม่มีตังก็ออกตัวปฎิเสธไปตรงๆ เลยว่าช่วงนี้ไม่มีเงิน เพราะการยืมเงินคนอื่นหรือให้พวกเขาออกเงินให้ก่อนอาจทำให้คุณดูไม่ดีนักถ้าทำบ่อยๆ แต่ถ้าต้องหยิบยืมเพื่อนจริงๆ จงรีบคืนให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง และจงหลีกเลี่ยงเรื่องการขอยืมเงินเพื่อนร่วมงานด้วยนะครับ ยิ่งคุณเงินเดือนสูงเท่าไหร่ พวกเขาจะมองว่าคุณบริหารเงินไม่ได้เรื่อง ขาดวินัย ทางที่ดีที่สุดคือการขอยืมทางบ้านหรือธนาคารตามระบบครับ
10. รู้จักปฎิเสธให้เป็น
ทักษะการปฎิเสธคือทักษะชั้นสูงที่ทำให้คุณได้เปรียบในสถานการณ์การขาย การบริหารความสัมพันธ์เองก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องกลัวหรือเกรงใจมากเกินไปว่าเพื่อนร่วมงานของคุณจะโกรธหรือเกลียดคุณ ถ้าคุณมีเหตุผลมากพอ เช่น การออกไปปาร์ตี้แล้วคุณไม่มีตัง คุณก็ปฎิเสธไปตรงๆ เลย หรือว่าคุณไม่ว่างจริงๆ และติดงานสำคัญ การให้เหตุผลที่ดีพร้อมกับปฎิเสธแบบนุ่มนวลจะทำให้ความคาดหวังในตัวคุณหายไป แถมยังทำให้เพื่อนร่วมงานเกรงใจคุณมากขึ้น การรับปากเพราะกลัวการปฎิเสธจะก่อให้เกิดความคาดหวัง เมื่อคุณทำไม่ได้ ผลเสียจะตกมาอยู่ที่ตัวคุณคนเดียวทั้งๆ ที่คุณมีเจตนาจะช่วยพวกเขาแท้ๆ โลกมันก็เป็นแบบนี้แหละครับ
นี่คือประสบการณ์ในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากบทความอื่นๆ ในการบริหารความสัมพันธ์ของคุณและเพื่อนร่วมงานให้ดีขึ้นครับ
Comments
0 comments