วิธีจัดการกับลูกน้องเจ้าปัญหา

ถ้าคุณเป็นเจ้าคนนายคนอยู่แล้ว บทความนี้คงเหมาะสมกับคุณมากๆ ครับ ขึ้นชื่อว่าการทำงาน คงไม่มีสถานการณ์ไหนที่จะราบรื่นเสมอไป คุณเห็นด้วยกับมั้ยครับ เพราะว่าการทำงานกับคนย่อมมีทั้งความสุขและความทุกข์แน่นอน

ปัญหาจากการทำงานระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง มีให้เห็นตั้งแต่ปัญหาขี้ปะติ๋วยันปัญหาใหญ่ถึงขั้น “ไม่เผาผี” เลยทีเดียว หลายเหตุการณ์เป็นปัญหาที่บานปลาย กระทบทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ยากที่จะหาเหตุผลที่แท้จริงว่าใครผิดใครถูก บางทีลูกน้องไม่ได้ผิดอะไรแต่เจ้านายเป็นคนก่อปัญหา หรือลูกน้องนี่แหละที่เป็นตัวปัญหา

การบริหารจัดการ (Management) ด้านบุคคลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นศาสตร์ที่สามารถสอนกันได้ มีหลักสูตรรับรองในระดับมหาวิทยาลัยที่นักบริหารบริษัทชั้นนำหลายคนใส่ใจที่จะเรียน เพราะพวกเขารู้ว่าการบริหารงานบุคคลโดยเฉพาะความสัมพันธ์ของเจ้านายกับลูกน้องนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

ผมจึงมีวิธีการจัดการกับลูกน้อง โดยเฉพาะเหล่าลูกน้องเจ้าปัญหาของคุณแบบมืออาชีพเพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์ให้ไม่เกิดความเกลียดชัง และทำให้ธุรกิจของคุณขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ต่อไปครับ

1. ตรวจสอบว่าลูกน้องมีปัญหาเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก่อน

ในฐานะเจ้านาย เมื่อพบว่าลูกน้องมีปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีสองแบบคือปัญหาด้านการทำงานที่ย่ำแย่ลงและปัญหาส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นดราม่าชนิดต่างๆ ความทุกข์จากสถานที่ทำงาน ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงาน ความขัดแย้งอื่นๆ ซึ่งคุณเองจะต้องวิเคราะห์ให้ดีก่อนว่าปัญหาของลูกน้องนั้นน่าจะมาจากอะไร ถ้าปัญหาเกิดจากประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง คุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นปัญหาส่วนตัว คุณจะต้องเช็คให้ละเอียดว่าควรจะช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นหรือแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

2. เรียกมาคุยเรื่องทัศนคติแบบสองต่อสองด้วยทักษะนักขาย

เมื่อวิเคราะห์ได้แล้วว่าลูกน้องของคุณมีปัญหาจริง จงทำนัดเรียกเขามาคุยกันแบบ “ปิดห้องคุย” ตัวต่อตัวทันที และจงใช้หลักการขายที่คุณจะต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้า เพียงแต่เปลี่ยนจากลูกค้ามาเป็นลูกน้องเพื่อถามคำถามที่ดีจนเขาคายข้อมูลที่ซ่อนอยู่ออกมา เก็ตไหมครับ ยิ่งคุณถามได้ดีและเจาะลึกให้ลูกน้องพูดหรือระบายมากขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งได้ข้อมูลเพื่อใช้ตัดสินลูกน้องว่าจะทำยังไงต่อไปได้ง่ายขึ้น

คุณเองก็จะต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วยว่าลูกน้องของคุณต้องการจะสื่ออะไร เช่น ถ้าลูกน้องมีตัวเลขที่ไม่ดี พวกเขาอ้างว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจแย่ คู่แข่งตัดราคา ลูกค้าไม่มีเงิน อะไรทำนองนี้ แต่พอถามว่าวันนึงหาลูกค้ากี่ราย กลับตอบว่าแค่ 1-2 ราย คุณจะได้รู้แล้วว่าจริงๆ แล้วลูกน้องของคุณทำกิจกรรมการขายน้อยเกินไปเท่านั้นเอง ซึ่งคุณสามารถช่วยพวกเขาด้วยการเพิ่มกิจกรรมการขายให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น

3. ถ้าพวกเขามีปัญหากับคุณ จงถามพวกเขาตรงๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคุณกับลูกน้อง คุณจะต้องวางตัวเป็นกลางมากๆ อย่าเข้าข้างตัวเองเป็นอันขาด บางทีลูกน้องไม่ชอบขี้หน้าคุณจากคำพูดบางอย่างที่คุณอาจไม่ทันคิด หรือการกระทำบางอย่างที่ลูกน้องไม่ชอบแต่พวกเขาไม่พูด จงถามพวกเขาแบบเปิดใจไปตรงๆ เลยว่าคุณพร้อมจะรับฟังสิ่งที่พวกเขาไม่พอใจ อย่ามีอีโก้ในเรื่องนี้เด็ดขาด เหตุผลจากปากลูกน้องจะเป็นสิ่งที่คุณต้องเอาไปคิดว่าคุณผิดจริงมั้ย คุณพร้อมจะปรับความเข้าใจกับพวกเขาจริงๆ หรือเปล่า

ถ้าคุณพบว่าสาเหตุมาจากการกระทำบางอย่างของคุณที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจ และเป็นสิ่งที่คุณคิดดูแล้วว่าถ้าคุณเป็นลูกน้องคนนั้นแล้วมีเจ้านายมาปฎิบัติกับคุณแบบนี้ ซึ่งคุณก็ไม่พอใจ คุณสามารถบอกกับลูกน้องได้ว่าคุณจะปรับการทำงานหรือระมัดระวังเรื่องความสัมพันธ์ให้ดีกว่านี้ จริงๆ แล้วไม่ผิดที่คุณจะกล่าวคำขอโทษลูกน้อง ถ้าคุณผิดจริง (ไม่ได้หมายความว่าให้หงอลูกน้องนะครับ คนละเรื่องกัน) คำขอโทษเป็นสิ่งที่พูดแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเสมอ คุณจะกลายเป็นคนที่เข้าถึงง่าย มีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำที่แท้จริงและได้ศรัทธาจากลูกน้องมากขึ้น ลองทำดูนะครับ

4. ถ้าพวกเขามีปัญหาเกี่ยวกับงาน จงลงมือจัดการเรื่องการทำงานของพวกเขา

ปกติแล้วปัญหาเรื่องงานมีอยู่ไม่กี่แบบ หลักๆ ก็คือไม่ชอบงานที่ทำ คุณสามารถคุยกับพวกเขาได้ว่าพวกเขาชอบทำงานแบบไหน เผื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานได้ (แต่ถ้าไม่มีตำแหน่งใหม่ให้ก็เอาออกไปเหอะเนอะ) แล้วอีกเรื่องก็คือการทำงานที่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้า คุณจึงต้องมีข้อมูลบันทึกการทำงานแบบวัดผลได้ เช่น ตำแหน่งนักขาย วัดผลได้ตั้งแต่จำนวนลูกค้าในมือ รายชื่อ จำนวนนัดต่อวัน จำนวนใบเสนอราคาที่ส่ง จำนวนการติดตามงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่านักขายแต่ละคนทำงานหนักจริงตามที่คุณกำหนดไว้หรือไม่

ถ้าทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานเพราะไม่ทำกิจกรรมการขายตามตัวเลขที่คุณสอนไว้ คุณจะได้ลงไปเฆี่ยนวินัยการทำงานของพวกเขาให้ดีขึ้น เป็นต้น ผมถึงบอกเสมอว่าการทำรายงานการขาย (Sales Report) นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำและมีความสำคัญในการวัดผลการทำงานของลูกน้องมากๆ ถ้าคุณปล่อยปละละเลย ไม่เน้นให้ลูกน้องทำเรื่องพวกนี้ คุณจะไม่รู้เลยว่าพวกเขาทำงานดีหรือไม่ดีกันแน่

5. ไล่ตัวปัญหาออกจากงาน

ในฐานะเจ้านายที่มีอำนาจในการบริหารคน ถ้าคุณได้พยายามแก้ไขหรือพูดคุยทุกวิถีทางแล้ว แต่ลูกน้องเจ้าปัญหาของคุณก็ยังไม่ดีขึ้น โดยที่คุณก็พบว่าลูกน้องคนอื่นไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคุณ มีแต่มันคนเดียวที่ยังไม่ยอมจบ (ฮา) วิธีการที่เป็นมืออาชีพ มีดังนี้

– แจ้งฝ่ายบุคคลให้เรียบร้อยว่าจะไล่เขาออก ถ้าไม่อยากให้บริษัทเสียผลประโยชน์เรื่องการจ้างพนักงานออก ให้ออกจดหมายตักเตือนฉบับแรกและฉบับที่สอง พร้อมลายเซ็นรับทราบจากลูกน้อง แต่ถ้ามันไม่ยอมเซ็นก็ไล่มันออกได้เลยครับ ต้องจ่ายชดเชย 3-4 เดือน ถือว่าคุ้มสำหรับการไล่พนักงานเจ้าปัญหา พวกนี้เก็บเอาไว้ก็เสียข้าวสุกเปล่าๆ (ฮา)

– ถ้าพนักงานทำผิดร้ายแรง เช่น ทุจริต โกง โดนศาลตัดสินคดีอาญา ทำร้ายร่างกาย ขาดงานติดต่อกันโดยไม่แจ้งบริษัท สร้างความเสียหายให้บริษัทฯ ฯลฯ ถ้ามีหลักฐานแล้วก็สั่งเช็คบิลโดยไม่ต้องจ่ายชดเชยได้เลยครับ ต้องรีบถีบให้พ้นๆ บริษัท

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้รวดเร็วและ “ไม่มีการต่อรอง” ทุกกรณี เพราะถ้าเก็บคนเหล่านี้ไว้นานๆ พวกเขาจะกลายเป็นมะเร็งร้ายให้กับคนอื่นๆ ที่ทำงานดีในบริษัท และจะลากคนดีๆ ให้กลายเป็นคนห่วยๆ ได้อีกด้วย การไล่ออกจะต้องยึดความเป็นมืออาชีพเสมอ ไล่ออกด้วยข้อมูล เช่น ถ้าทำงานไม่ดี ควรมีข้อมูลประกอบว่าตัวเลขอะไรที่ทำให้พวกเขาถือว่าทำงานไม่ดี และจะต้องตั้งอยู่ในสภาวะที่ “จากกันด้วยดี” อีกด้วย มิเช่นนั้นแล้วเมื่อเวลาผ่านไปแล้วพวกเขาได้ดิบได้ดี พวกเขานี่แหละที่จะมาไล่ขยี้คุณทีหลัง ไม่เผาผี เป็นศัตรูกับคุณตลอดชีวิต เอาคุณไปด่าซ้ำยามคุณตกต่ำอีกด้วยครับ พวกเขาจะรอคุณพินาศและเอาไปพูดจนสนุกปากแน่นอน อย่าพลาดล่ะ

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ยังต้องลงลึกเกี่ยวกับการจัดการลูกน้องเจ้าปัญหาแต่ละแบบ บทความนี้จึงขอพูดแบบกว้างๆ เอาไว้ก่อนนะครับ แล้วผมจะเขียนวิธีจัดการลูกน้องแต่ละแบบต่อไปครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น