วิธีการพูดต่อหน้าสาธารณะแบบมืออาชีพ
เคยสงสัยมั้ยครับว่าการพูดต่อหน้าสาธารณชนหรือพูดต่อหน้าคนเยอะๆ มันเกี่ยวอะไรกับการขายด้วย ขอบอกเลยครับว่าเกี่ยว เกี่ยวมากด้วย ทักษะการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับคนที่ต้องการเป็นผู้นำ เป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของกิจการ เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอนาคตเลยก็ว่าได้
ไม่เชื่อลองสังเกต “เจ้าของบริษัท” หรือ CEO ของคุณดูสิครับ ยิ่งถ้าคุณอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่ เวลามีงานประชุมใหญ่ของบริษัท หรือมีงานทางการต่างๆ CEO ของคุณจะได้เป็นผู้พูดต่อหน้าคนเยอะๆ และต่อหน้าคุณทุกงาน พวกเขาจะไม่มีความประหม่า มีทักษะการพูดที่ลื่นไหล ถ้าคุณอยากเป็น CEO คุณต้องทำเรื่องนี้ให้ได้อยู่ดีครับ
หมายความว่าต่อให้ไม่มีประสบการณ์เลยก็ตามในเรื่องการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ซักวันนึงเมื่อฝีมือการขายหรือฝีมือการทำงานของคุณโดดเด่น คุณถูกดันขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง คุณจะเริ่มมีเวทีให้ขึ้นพูดหรือถูกรับเชิญให้ไปออกงานสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับแวดวงธุรกิจของคุณ ขอบอกเลยว่าการได้มาซึ่งคอนเน็กชั่นที่ทำให้บรรดา CEO สามารถเปิดการขายกับลูกค้าได้ง่ายๆ ก็คือการพูดต่อหน้าแขกรับเชิญอย่างประทับใจนั่นแหละครับ
การปิดตัวเองและไม่ยอมฝึกฝนทักษะการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ จะทำให้คุณ “พลาดโอกาสในชีวิต” ไปอย่างน่าเสียดาย ผมจึงขอแชร์วิธีการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ด้วยประสบการณ์ของผมเอง จากการผ่านเวทีระดับชาติและระดับองค์กรมามากมายดังนี้ครับ
1. เตรียมความพร้อม จากนั้นก็ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม
คุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรระดับโลกชื่อดังเคยพูดในโฆษณาเหล้ายี่ห้อหนึ่ง โดยเขาได้พูดว่า “มีคนถามผมว่าผมไปแสดงที่คาร์เนกี ฮอลล์ ได้อย่างไร ผมจึงตอบไปว่า ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม..” เก็ตไหมล่ะครับ การจะขึ้นแสดงหรือขึ้นพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ได้ดี การฝึกซ้อมคือสิ่งที่ควรทำและต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนสคริปต์เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด คล้ายๆ กับการทำสไลด์นำเสนอลูกค้าด้วยตัวของคุณเอง ทำให้คุณจำเรื่องที่จะพูดได้ ที่สำคัญคือ “การจดโพย” ซึ่งไม่ผิดที่จะนำมันขึ้นมาดูหรืออ่านตามโพยตอนที่พูด เพราะระดับโลกเขาก็ทำกันครับ
2. ก่อนเข้าห้องบรรยายควรมาก่อนเวลาเพื่อเช็คระบบแสง สี เสียง ให้พร้อม
วิทยากรหรือผู้พูดที่ดีจะต้องมาก่อนเวลาเสมอ โดยเฉพาะเมื่อคุณเตรียมไฟล์การนำเสนอและการพูดมา คุณอาจเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันถ้าไม่มาก่อนเวลาเพื่อแก้สถานการณ์นั้น เช่น คอมพิวเตอร์หรือเครื่องโปรเจคเตอร์ของลูกค้าไม่มีสาย HDMI ซึ่งโน้ตบุ้คของคุณอาจมีแต่ช่อง HDMI เท่านั้น ทำให้ต่อออกจอไม่ได้ หรือการใช้ Macbook อาจสร้างปัญหาปวดหัวให้คุณเพราะต้องมีสายต่อพ่วง ไหนจะเรื่องระบบเสียง ระบบจอภาพ เรื่องพวกนี้อาจทำให้คุณ “หน้าแตก” ได้เลยในกรณีที่แก้สถานการณ์ได้ช้าหรือต้องเสียเวลางกๆ เงิ่นๆ แก้ปัญหาเมื่องานเริ่มแล้ว อย่าทำเป็นเล่นเด็ดขาดนะครับ
3. แต่งตัวให้ดูดีที่สุด ทรงผมต้องพร้อมที่สุด
ความพร้อมด้านการแต่งกายกับทรงผมจะทำให้คุณลดอาการเกร็งในการพูดหน้าสาธารณะไปได้ มีแบรนด์เนมอะไรก็สามารถงัดมาใส่ได้เต็มที่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจให้คุณมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น (อย่างน้อยก็มีคนมองนาฬิกาของคุณอยู่นะ ฮา) ที่สำคัญคือชุดกับทรงผมและการแต่งหน้าที่พร้อมจะทำให้รูปที่ถ่ายออกมาในงานดูดี คุณดูสวย ดูหล่อ ไม่ต้องวิตกกังวลอะไรอีกต่อไป
4. อาจมีมุกประจำตัวซักเล็กน้อยเพื่อสร้างความคุ้นเคยและเป็นกันเอง
ในงานพูดที่ไม่ทางการจนเกินไป เช่น งานพูดภายในบริษัท งานพูดในห้องประชุมที่มีแต่คนคุ้นเคย งานกึ่งทางการ ฯลฯ การปล่อยมุกง่ายๆ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะจะทำให้คุณมีความมั่นใจขึ้นและลดการเกร็งลง ตัวอย่างเช่นมุกประจำของผม
“หากพวกเรากำลังสบายจงตบมือพลัน…แปะแปะ” (ฮา) ผมก็อปพี่โน้ส อุดมมาครับ เชื่อผมมั้ยครับว่าแทบทั้งห้องจะตบมือให้คุณโดยพลันแน่นอน ผู้ฟังและตัวคุณเองจะคุ้นเคยซึ่งกันและกันมากขึ้น ควรใช้ก่อนเข้าสู่การพูดของคุณนะครับ บรรยากาศจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
5. ใช้วิธีการถามคำถามผู้ฟังเมื่อสังเกตเห็นคนที่ไม่ตั้งใจฟังคุณ
การพูดต่อหน้าคนอื่นจะทำให้คุณมองเห็นทุกคนที่กำลังฟังคุณอยู่ คุณจะเห็นเลยว่าใครที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจฟัง โดยเฉพาะคนที่ไม่ตั้งใจฟังอาจทำให้คุณรู้สึกรำคาญสายตาและรำคาญใจ โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์การพูดต่อหน้าคนเยอะๆ จะรู้สึกรำคาญเป็นพิเศษ คนที่มัวแต่คุยหรือเอาแต่เล่นมือถือจะยิ่งทำให้คุณเสียสมาธิจนการพูดเริ่มสะดุด คุณมีวิธีแก้ไขแบบง่ายๆ ด้วยการหยุดพูดและขอถามคำถามผู้ฟังแบบง่ายๆ ก็คือถามว่า “คุณเห็นด้วยมั้ยครับกับสิ่งที่ผมได้พูดไป” เชื่อผมเถอะว่าจะมีคนเห็นด้วยและดึงความสนใจคนที่ไม่ตั้งใจฟังคุณกลับมา
6. เปิดไฟล์วีดีโอแทรกการพูดถ้าสามารถทำได้เพื่อดึงความสนใจ
เทคนิคการพักเบรกของผมที่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แถมยังทำให้ผู้ฟังสนใจคุณมากขึ้นก็คือการเตรียมไฟล์วีดีโอที่เกี่ยวกับหัวข้อที่พูดติดไม้ติดมือมาด้วย พอถึงจังหวะดีๆ ก็เปิดไฟล์นั้นที่มีทั้งภาพและเสียง คนฟังจะรู้สึกไม่เบื่อและการพูดของคุณจะมีสีสันมากยิ่งขึ้น หรือวิธีการสาธิตอะไรบางอย่างให้ดูก็สามารถทำได้เช่นกัน ถ้าคุณซ้อมคิวมาดี การพูดของคุณจะโดดเด่นเป็นพิเศษไม่เหมือนใคร สร้างการจดจำที่ดีของผู้ฟังได้ ที่สำคัญคือคุณจะได้มีเวลาหายใจหายคอซักระยะนึง ทำให้มีเวลาคิดหรือทบทวนสิ่งที่จะพูดระหว่างวีดีโอใกล้จบ
7. เปิดโอกาสให้คนอื่นถามบ้าง
การพูดยาวๆ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ถามคำถาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือความน่าเบื่อหน่ายและสุดท้ายคุณก็จะเห็นแต่คนหลับ ไม่ก็เล่นมือถือ วิธีการแก้ไขสถานการณ์และสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นก็คือการถามผู้ฟังไปเลยว่ามีใครมีคำถามกันบ้างมั้ย ถ้ามีแล้วก็สามารถยกมือถามคุณได้เลย อาจจะทำท่ายกมือให้ดูด้วยเพื่อให้คนฟังกล้าแสดงออกมากขึ้น หรือถ้าไม่มีเลยก็เข้าจังหวะพูดต่อได้เลยครับ
8. คิดว่าทุกคนในห้องบรรยายคือดาราตลกชื่อดัง
เป็นมุกที่ผมใช้ประจำเมื่อมีผู้ฟังจำนวนมหาศาล ผมจะมีเทคนิคในการลดความประหม่าและสร้างอารมณ์ที่ดีในการพูดด้วยการมองหาคนที่ “สวยที่สุด” ในห้องบรรยายบ่อยๆ มองตาเธอผู้นั้นเป็นระยะๆ (ฮา) เพราะเมื่อคุณเป็นผู้พูด คุณจะสามารถจ้องตาสาวสวยหรือคนน่ารักในห้องนั้นได้อย่างไม่เคอะเขิน คุณจะมีอารมณ์ที่ดีขึ้น หรือถ้าไม่มีเลย ให้คุณคิดว่าคนที่ฟังคุณเป็นพี่หมำหรือพี่เท่งก็ได้ครับ สมมติว่ามีพี่เท่งมาฟังคุณ บรรยากาศคงผ่อนคลายน่าดู ทำให้การพูดเป็นเรื่องง่ายๆ เลยทีเดียว
9. กวาดสายตาให้ทั่วถึงและเดินไปรอบๆ หรือลงไปหาผู้ฟังเลยก็ได้
การใช้สายตาที่ดีจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณมองและให้ความสนใจพวกเขา จงมองไปรอบๆ และเมื่อมีใครจ้องคุณก็แนะนำให้คุณจ้องกลับไปด้วย อาจจะใช้วิธีนับเลขว่าใครจ้องตาคุณอยู่ คุณจะได้วัดผลว่าใครที่ตั้งใจฟังคุณจริงๆ การเดินออกจากโพเดียมหรือลงจากเวทีเพื่อเดินไปหาผู้ฟังใกล้ๆ และทั่วถึงก็เป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นกันเองและได้บรรยากาศร่วมที่ดี เผลอๆ ผู้ฟังเองนี่แหละครับที่จะเป็นฝ่ายเกร็งซะเองเพราะกลัวคุณเดินมาหาและเอาไมโครโฟนยื่นมาถามพวกเขานี่แหละครับ
ถ้าคุณอยากจะเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม จงฝึกการพูดต่อหน้าสาธารณชนให้คล่องปากนะครับ ประสบการณ์ที่เพิ่มพูนจะทำให้คุณได้ขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตได้เลย
Comments
0 comments