วิธีสัมภาษณ์งานในตำแหน่งผู้จัดการระดับสูง
ช่วงสิ้นปีนี้ก็ถือว่าเป็นฤดูกาลแห่งการรับโบนัสและ “แสวงหางานใหม่” กันแล้วนะครับ ผมเชื่อว่านักขายหลายๆ คนจะได้รับโอกาสจากบริษัทมากมายในการติดต่อทาบทามคุณ หรือแม้แต่ตัวคุณเองนี่แหละที่เป็นฝ่ายแสวงหางานใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า (ฮา)
ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ที่มีทั้งการถูกทาบทามและการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ด้วยตนเองช่วงฤดูกาลแห่งการหางานใหม่นี้ จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการแชร์ความรู้และวิธีการคว้าโอกาสเหล่านั้นเอาไว้ในมือให้จงได้
การสัมภาษณ์งาน จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้คุณคว้าโอกาสเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้ เรียกได้ว่าจะได้งานหรือไม่ได้งานก็ขึ้นอยู่กับผู้สัมภาษณ์ล้วนๆ เลยล่ะครับ ถือว่าเป็นการ “ขายตัวเอง” โดยที่เจ้านายในอนาคตของคุณคือ “ผู้ซื้อ” ตัวคุณไปด้วยค่าเหนื่อย ตำแหน่ง หรือผลประโยชน์ที่พวกเขาเสนอนั่นเองครับ
ยิ่งตำแหน่งงานที่คุณถูกเรียกสัมภาษณ์เป็นตำแหน่งระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารขึ้นไป ความเข้มข้นในการสัมภาษณ์งานก็จะยิ่งสูงขึ้น เพราะลูกค้า (ผู้สัมภาษณ์) ของคุณย่อมแบกรับความเสี่ยงเช่นกัน ในกรณีที่พวกเขา “เลือกคนผิด” นอกจากจะเสียเวลา เสียโอกาสทางธุรกิจ แถมยังเสียเงินชดเชยเวลาไล่คุณออกอีกด้วย (ฮา)
เซลล์ร้อยล้านจึงขอแชร์วิธีการสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูง ซึ่งถือว่ามีความยากและท้าทาย ผลตอบแทนที่ได้จากการผ่านสถานการณ์ที่ยากเหล่านั้นก็คือตำแหน่งงานใหม่ที่ยอดเยี่ยม และผลประโยชน์ที่คุณจะได้รับนั่นเองครับ
1. ทำการบ้านเกี่ยวกับ “ลูกค้า” (ผู้สัมภาษณ์) ของคุณก่อน
การทำการบ้านก่อนเข้าพบแบบเจอหน้าใครก็ตาม (โดยเฉพาะลูกค้า) ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่คุณต้องลงมือทำก่อนถึงวันสัมภาษณ์งานจริง ส่วนใหญ่แล้วทางฝ่ายบุคคลจะแจ้งให้คุณทราบว่าใครเป็นผู้สัมภาษณ์คุณในขั้นตอนถัดไป อาจจะแจ้งมาทางอีเมลล์หรือโทรศัพท์บอกคุณ จงนำชื่อจริงและตำแหน่งงานของหัวหน้าคุณ (Line Manager) ไปเช็คในกูเกิ้ลเพื่อทำการบ้านทันที คุณจะพบข้อมูลสำคัญของพวกเขาภายในนั้น โดยเฉพาะในลิ้งก์อิน (LinkedIn) หรือแม้แต่ในเฟซบุ้ค
สิ่งที่คุณต้องทำถัดมาคือเข้าไปดูประวัติการทำงาน สถาบันที่พวกเขาจบมา หน้าตา อายุ โหงวเฮ้ง ฯลฯ และอย่าลืมที่จะเข้าไปส่องชีวิตพวกเขาบนเฟซบุ้ค ซึ่งหลายๆ คนจะโพสต์ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เช่น สามี-ภรรยา ลูก สัตว์เลี้ยง กิจกรรมที่ชอบ การท่องเที่ยว ทัศนคติ ฯลฯ ถือว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้คุณรู้จักผู้สัมภาษณ์ในเวลาไม่เกิน 30 นาที ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพวกเขาซึ่งอาจจะสอดคล้องกับคุณ เช่น สถาบันที่จบมาเป็นสถาบันเดียวกับคุณ หรือกิจกรรมที่พวกเขาทำมีสิ่งที่คล้ายกับคุณ เป็นต้น เวลาสัมภาษณ์งานก็จะทำให้คุณได้เปรียบและมีแต้มต่อมากขึ้นไปอีก
2. การแต่งกายต้องอยู่ในฟอร์มของระดับผู้บริหารมืออาชีพ
เสื้อผ้าหน้าผมที่พร้อมและมีความเป็นมืออาชีพที่สุดคือการลงทุนกับตัวเองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเมื่อถึงเวลาพบหน้าพวกเขาเป็นครั้งแรก เปรียบได้กับการสร้างความประทับใจแรกพบ (First Impression) ดังนั้นคุณจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม สูทต้องมี ทรงผมต้องดูดี ที่สำคัญอย่าลืม “ตัดเล็บ” ให้เรียบร้อยด้วยนะครับ เชื่อหรือไม่ว่าผู้บริหารหรือ CEO ที่สัมภาษณ์คุณจะสังเกตเรื่องนี้โดยที่คุณไม่รู้ตัว ผู้สัมภาษณ์ที่เล็บยาว ดูไม่สะอาด นิ้วมือสกปรก หมายความว่าผู้สัมภาษณ์รายนี้ไม่มีความพร้อม ไม่ดูแลตัวเอง แล้วอย่างนี้จะปล่อยให้เข้ามาทำงานเพื่อดูแลธุรกิจของพวกเขาได้ยังไงล่ะครับ ขอบอกเลยว่าคุณไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้เป็นอันขาด ถึงขั้นแพ้ได้เลยล่ะครับ
3. ผู้บริหารระดับสูงต้องการทราบ “กึ๋น” ในการแก้ไขปัญหาของคุณ
ส่วนใหญ่แล้วในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ผู้สัมภาษณ์มักเป็นระดับเจ้าของบริษัท ผู้บริหาร CEO, C-Level ซึ่งพวกเขาคงมีเวลาค่อนข้างจำกัด คำถามสัมภาษณ์งานจะมีความแตกต่างกับฝ่ายบุคคล (HR) หรือระดับผู้จัดการ (Manager) อย่างสิ้นเชิง พวกเขาจะถามเพื่อให้คุณแนะนำตัวคร่าวๆ เพราะประวัติของคุณคงไม่เบาทีเดียวถึงถูกคัดเลือกหรือทาบทาม พวกเขาจะเริ่มถามคำถามและบอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงธุรกิจปัจจุบัน เช่น ปัญหาด้านการคุมทีมขาย กิจกรรมการขาย กิจกรรมทางการตลาด งานบริหารด้านการเงินหรือบุคคล ฯลฯ ซึ่งคุณจะต้องตั้งใจฟังคำถามและใช้สมองคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะพูดเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้พวกเขาประทับใจออกมา
ประสบการณ์ระดับสูงจากการทำงานจะช่วยให้คุณได้คำตอบที่ช่วยเหลือพวกเขาได้ ผู้บริหารเหล่านี้อยากได้ยินว่าคุณจะสร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้อย่างไร การสัมภาษณ์และพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาระดับองค์กรในปัจจุบันของพวกเขานี่แหละครับที่เป็นตัวบ่งบอกว่าคุณคือ “คนที่ใช่” และสามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ ส่วนคำถามจิปาถะอื่นๆ ผมไม่ขอพูดถึงนะครับ คุณเองก็คงมีประสบการณ์อยู่มิใช่น้อย ดังนั้นจงเน้นการ “ทำการบ้าน” เกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขาให้ละเอียด และจงอย่าลืม “ถามคำถามกลับ” เพื่อให้พวกเขาเล่าสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด เหมือนกับการขายแบบมืออาชีพที่คุณต้องเป็นฝ่ายถามและกลายเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าคุณในภายหลังนั่นเอง
4. สร้างแต้มต่อให้ตัวเองด้วยทักษะด้านภาษาอังกฤษระดับมืออาชีพ
การสัมภาษณ์งานระดับสูง โดยเฉพาะเหล่าบริษัทข้ามชาติ ถ้าภาษาอังกฤษของคุณยังอยู่แค่ระดับงูงูปลาปลา ทั้งๆ ที่ยุคนี้เป็นยุคออนไลน์ที่คุณสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้ทุกที่ทุกเวลา คุณก็อย่าหวังที่จะทำงานกับบริษัทข้ามชาติซึ่งผู้สัมภาษณ์ระดับสูงจะเป็นชาวต่างชาติอย่างแน่นอน บริษัทข้ามชาติถือว่าเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมในการร่วมงานกับองค์กรระดับโลกซึ่งสามารถเปย์ค่าเหนื่อยให้คุณอย่างงาม แถมประวัติในเรซูเม่ของคุณจะยิ่งดูดีเหนือคนอื่นในตลาดมากขึ้นไปอีก คุณจึงควรฝึกซ้อมการใช้ภาษาอังกฤษที่สามารถพูดเชิงธุรกิจในระดับมืออาชีพให้เชี่ยวชาญมากขึ้น เรียกได้ว่าต่อให้เก่งเท่าๆ กัน แต่ผู้สมัครอีกรายใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่า คุณก็หมดสิทธิ์ชนะอย่างสิ้นเชิง
5. ทำการบ้านเกี่ยวกับการถามคำถามเบ็ดเตล็ดด้วยตนเอง
มีหลายบทความบนโลกออนไลน์ที่จะช่วยคุณในการตอบคำถามพื้นฐานอยู่มากมาย เช่น จุดแข็ง-จุดอ่อนของคุณคืออะไร ทำไมบริษัทเราถึงต้องเลือกคุณ สไตล์การบริหารงานของคุณ ฯลฯ ซึ่งคุณควรสอบถามจากที่ปรึกษา เพื่อนร่วมงานตัวท็อป นักธุรกิจที่คุณนับถือ รวมถึงการอ่านบทความด้านการขายโดยเฉพาะเรื่องวิธีการสัมภาษณ์งานของผมด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้มากเวลาตอบให้ดูดี ตรงใจผู้สัมภาษณ์งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำถามที่มีคำตอบที่ดีคล้ายๆ กันอยู่แล้วครับ ทำให้คุณปิดช่องโหว่และสร้างจุดแข็งในการเป็นตัวเลือกเบอร์หนึ่งต่อพวกเขาได้
จำไว้นะครับว่าการคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงจะมองทักษะการแก้ปัญหาเชิงธุรกิจของผู้สัมภาษณ์งานเป็นหลัก และเรื่องนี้คือเรื่องที่สำคัญที่สุด ให้คะแนนมากที่สุดสำหรับขั้นตอนการคัดเลือกเลยก็ว่าได้ จงวิเคราะห์ธุรกิจของลูกค้าจากประสบการณ์ของตัวเองให้แตกฉาน เรียนรู้กรณีศึกษาจากของจริงให้มากที่สุด แล้วโอกาสที่น้อยคนนักจะสามารถคว้ามาก็จะตกเป็นของคุณครับ
Comments
0 comments