คุณควรรับมือกับ ‘Gen Z’ อย่างไร เมื่อได้พวกเขาเข้ามาทำงาน

ผมเองเคยถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กรุ่นใหม่’ มาก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ใหม่เพราะอายุขึ้นเลข ‘สาม’ แล้ว (ฮา) เมื่อก่อนสมัยทำงานใหม่ๆ มักจะโดนผู้ใหญ่รุ่นลุง ‘ตราหน้า’ ว่าขี้เกียจ ทำงานไม่ทน ติดอินเทอร์เน็ต ขี้เบื่อ เหยียบขี้ไก่ไม่ฟ่อ อยู่เนืองๆ ซึ่ง ณ ตอนนั้นจนถึงตอนนี้มีระยะเวลารวม 10 ปี เห็นจะได้

ตอนนี้ผมกลายเป็น ‘เด็กรุ่นไม่ใหม่’ อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว พร้อมรับมือกับบทบาทสำคัญในการเป็น ‘ผู้จัดการ’ ขององค์กรขึ้นไป หมายความว่าความท้าทายใหม่ๆ ของผมก็คือการได้ลูกน้องซึ่งเป็นเด็ก ‘Gen Z’ เข้ามาทำงานครับ

อนึ่ง กล่าวถึงเรื่อง Gen Y กับ Gen Z กันก่อน คน Gen Y อย่างพวกผมจะมีอายุประมาณ 26-35 ปี ถือว่าเป็นเด็กยุคทศวรรษที่ ’90’ เติบโตมากับช่อง 9 การ์ตูน ระบบเอ็นทรานซ์แบบเก่า ดิจิมอน เกมบอย บอยแบนด์ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คยุคแรกคือ MSN, Pirch, Hi5 ก่อนจะมาเป็นเฟซบุ้ค ใครอ่านถึงตรงนี้ก็แสดงว่าโดนดักแก่นะ (ฮา)

ส่วนเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดงานในปัจจุบันนี้ เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘Gen Z’ ซึ่งจะมีอายุตั้งแต่ 25 ปีลงมา โดยเฉพาะเด็กจบใหม่อายุ 20 พวกเขาเติบโตมากับ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไอโฟนรุ่นแรกๆ มีแม็คบุ้คใช้ ทำการบ้านได้ง่ายๆ ได้กูเกิ้ลกับวิกิพีเดีย (Wikipedia) โตมากับเกมออนไลน์และยูทูเบอร์อย่างสมบูรณ์แบบ แถมพวกเขายังชอบใช้ ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นช่องทางการสื่อสารอีกด้วย

ในฐานะที่ผมเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทย มีพนักงานที่เป็นคน Gen Z เพิ่มเข้ามาเป็นทีมงานใหม่จำนวนมาก ผมเองซึ่งเป็นคน Gen Y จึงมีประสบการณ์ในการรับมือพวกเขาซึ่งว่ากันว่าเป็นรุ่นที่ ‘เอาใจยาก’ มากที่สุดในโลกแห่งการทำงานเลยก็ว่าได้ (ฮา)

1. ให้เกียรติพวกเขาก่อนเสมอในฐานะที่พวกเขา ‘น่าจะ’ ฉลาดกว่าคุณ

ครับ คุณฟังไม่ผิดหรอก พวกเขามีแนวโน้มว่าจะฉลาดกว่าคุณถ้าวัดจากเงื่อนไขตอนที่ ‘อายุเท่ากัน’ นะครับ พวกเขาเติบโตมากับยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างสามารถหาความรู้ได้แค่ปลายนิ้ว พวกเขาจึงเป็นเด็กที่ ‘เชื่อคนยากขึ้น’ แม้แต่คุณครูประจำชั้นของพวกเขาเอง เพราะพวกเขาเข้าถึงข้อมูลได้หลายแหล่งมากกว่าคุณ (Gen Y, Gen X) ซึ่งสมัยเรียนมัธยมถูกเสี้ยมสอนมาให้ ‘ท่องจำ’ แบบนกแก้วนกขุนทอง คุณภาพการสอนของอาจารย์ที่ไม่เหมือนกันทำให้คุณอาจจะได้รับความรู้แบบผิดๆ ถูกๆ มาก็ได้ ผิดกับเด็ก Gen Z ลิบลับที่ต่อให้เรียนโรงเรียนไม่ดัง โนเนม แต่ขอให้มีอินเทอร์เน็ต 4G พวกเขาก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่แพ้กับเด็กโรงเรียนดัง (ถ้าใฝ่ดีนะ)

ไม่ผิดที่พวกเขาอาจจะดูหัวรั้นอยู่หน่อยๆ แต่ถ้าคุณเข้าใจธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่พวกเขาโตมาตามสไตล์เด็ก Gen Z ผมบอกเลยว่าคุณกำลังมีข่าวดีที่จะได้เด็กอายุน้อย มีต้นทุนสูง สามารถเรียนรู้งานได้ไว ทำงานได้รวดเร็ว การให้เกียรติพวกเขาโดยไม่เกี่ยงอายุโดยมองที่ความสามารถเป็นหลักจะทำให้พวกเขา ‘ไว้วางใจ’ คุณมากขึ้น ส่งผลให้เขาทุ่มเทกับการทำงานอย่างสุดฝีมือ ไม่ใช่เพื่อคุณ แต่อาจจะเป็นเพื่อ ‘พิสูจน์’ ตัวเองว่าพวกเขานั้นเจ๋งแค่ไหน สิ่งที่คุณได้ผลประโยชน์ต่อจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ยิ้มอ่อนๆ เอาไว้แล้วรอรับเงินจากลูกค้าก็โอเค (ฮา)

2. Work-Life Balance คือปรัชญาที่เหมาะสมกับการทำงานของพวกเขา

คำว่า Work-Life Balance เป็นคำที่ฝรั่งเอามาใช้ปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่โดยเฉพาะในองค์กรอเมริกัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคของผม (Gen Y) เอง ซึ่งผมเคยทำงานบริษัทอเมริกันระดับโลกและมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในช่วงนั้นพอดี ปรัชญาของ Work-Life Balance หรือทำงานและใช้ชีวิตให้สมดุล เริ่มมาจากสุดยอดองค์กร Gen Y เฟื่องฟูในตำนานอย่าง กูเกิ้ล (Google) เรื่อยมาจนถึงเฟซบุ้ค (Facebook) ซึ่งความน่าสนใจมีตั้งแต่สวัสดิการของพนักงานที่ทำงานราวกับอยู่บ้าน มีมุมพักผ่อนหย่อนใจ มีโต๊ะปิงปองให้เล่นกีฬาระหว่างทำงานเพื่อผ่อนคลายความเครียด มีปาร์ตี้ มีบาร์เบียร์ในบริษัท ฯลฯ ซึ่งเป็นการ ‘ฉีกกระชาก’ การทำงานแบบลุงๆ รุ่น Gen X ลงสิ้นเชิง

ถ้าคุณเป็นผู้บริหารรุ่นเดอะ อาจจะไม่เข้าใจว่าเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ทำงานและสนุกกับชีวิต เลิกตรงเวลา อะไรทำนองนี้แล้วลูกน้องจะทำงานดีได้อย่างไร ผมขอให้คุณดูกูเกิ้ลเป็นตัวอย่างนะครับ เด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z จะค่อนข้าง ‘แอนตี้’ การทำงานของคนสมัยเก่าเป็นอย่างมาก เช่น ทำงานตอกบัตรแต่เช้าตรู่ เลิกงานหลังเจ้านาย ต้องอยู่ออฟฟิศดึกๆ เพื่อโชว์ความขยันออกมา ชีวิตต้องทุ่มให้งานเกินร้อย ต้องเป็นยอดมนุษย์เงินเดือน ฯลฯ พวกเขารู้วัฒนธรรมเหล่านี้ดีจากการ์ตูนญี่ปุ่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือน หนังสือหรือเพจที่แนะนำให้คนอยากรวย รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตได้อย่างน่าอิจฉา ทำงานดี มีเวลา แถมมีตังด้วย (ฮา)

3. สไตล์การทำงานแบบคนรุ่นเก่าจะทำให้พวกเขาเบื่องานและหนีไปจากคุณ

สืบเนื่องจากเรื่อง Work-Life Balance ถ้าคุณยังยึดติดกับระบบการทำงานแบบเก่าที่น่าเบื่อ พวกเขาในฐานะคนรุ่นใหม่จะเริ่ม ‘ต่อต้านคุณ’ จากน้อยไปหามาก เป็นระเบิดเวลาที่ทำให้ระบบการทำงานของคุณเสียหาย ไล่ตั้งแต่การคัดเลือกพนักงานใหม่ เงินเดือนที่จ่ายไปให้พวกเขา เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงต่อต้าน เบื่อ และลาออก คุณอาจจะสรุปไปเองว่าพวกเขา ‘เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ’ ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นองค์กรของคุณก็ได้ที่ไม่ปรับตัวเข้าหาพวกเขาและคิดว่าระบบเดิมๆ นั้นถูกเสมอ ในขณะที่องค์กรระดับโลกเขาปรับปรุงไปไหนต่อไหนแล้ว พวกเขาจะไม่แคร์ถ้าจะต้องเปลี่ยนงานใหม่ โดยเฉพาะเด็กที่ดีกรีค่อนข้างดี มีของ เพราะพวกเขาหางานใหม่ได้อยู่แล้ว

4. ใช้ระบบการฝึกอบรมพนักงานที่ได้มาตรฐาน

เพื่อป้องกันการสูญเสียพวกเขาไปและต้องหาดาวรุ่งดวงใหม่เข้ามาแทนที่ ตัวอย่างเช่น ทีมขาย ซึ่งคุณมี Gen Z ที่ทำงานได้ดี เป็นตัวความหวัง ทำยอดให้คุณได้เรื่อยๆ แต่ถ้าคุณหวังพึ่งพวกเขามากเกินไปโดยไม่สามารถฝึกอบรมพนักงานคนอื่นให้เก่งได้เหมือนตัวท็อป Gen Z พวกเขาซึ่งไม่ค่อยแคร์เรื่องความจงรักภักดีและอาจจะย้ายงานไปสู่ที่ที่เงินเดือนดีกว่า ผลประโยชน์มากกว่า (ไม่แปลกที่พวกเขาจะคิดแบบนั้น เพราะตำราคาธุรกิจบอกว่านักขายก็คือนักธุรกิจคนหนึ่ง) อาจจะทำให้คุณเสียผลประโยชน์ การมีแผนรองรับด้วยระบบการขายที่ทำให้นักขายทำงานได้เหมือนกันจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในจุดนี้ได้

5. ใช้เทคโนโลยีปรับปรุงให้องค์กรมีความทันสมัยเพื่อดึงดูดพวกเขาให้มาทำงาน

กลุ่ม Gen Z ในยุคนี้ ต้องบอกว่ามี ‘พรสวรรค์’ (Talent) มากทีเดียว เพราะพวกเขาคลุกคลีกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก เป็นไปได้ว่าพวกเขายินดีที่จะทำงานกับบริษัทโนเนมหรือเปิดใหม่ มากกว่าองค์กรโบราณที่เปิดมานาน รวยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยก็จริง แต่ปรากฎว่า ‘ไม่น่าทำงาน’ เพราะไม่ค่อยมีนวัตกรรมอะไร เป็นองค์กรที่มีแต่ ‘ลุงๆ ป้าๆ’ อยู่เต็มไปหมด (ฮา) พวกเขาจึงมีแนวโน้มว่าจะเลือกทำงานกับบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีหรือมีนวัตกรรมในองค์กร เช่น บริษัทสตาร์ทอัพ บริษัทด้านเทคโนโลยี เป็นต้น งานของกลุ่มนี้จึงเติบโตยังไงครับ

ถ้าคุณอยู่ในฐานะเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำที่เปิดมานาน จงศึกษาตัวอย่างการปรับตัวขององค์กรอายุนับร้อยอย่าง ‘SCG’ ให้ดี ที่มีการประชาสัมพันธ์ สร้างสิ่งที่น่าสนใจและเน้นความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมภายในองค์กร อาคารใหม่ที่เน้นเรื่องความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โปรแกรมพัฒนาขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ อุปกรณ์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยความสะดวกสบายในการทำงาน เป็นต้น พวกเขาถือว่าเป็นองค์กรที่น่าทึ่ง ปรับตัวตลอดเวลา ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในองค์กรในฝันเสมอ

6. จงให้โอกาสพวกเขาในการแสดงความสามารถอย่างเต็มที่

เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับการมอบโอกาสให้พวกเขา ‘วาดลวดลาย’ ได้อย่างเต็มที่โดยมีข้อแม้ว่าคุณต้องอย่าคอยแต่ ‘จ้องจับผิด’ หรือ ‘หมั่นใส้’ ด้วยอารมณ์ส่วนตัวเป็นอันขาด คุณจะต้องเป็น ‘โค้ช’ สำหรับพวกเขา ถ้าพวกเขาทำแล้วผลงานออกมาไม่น่าพอใจ จงให้คำแนะนำพร้อมกับสอนพวกเขาอย่างจริงใจ ทำเป็นตัวอย่างให้ดูแบบต่อหน้า หรือถ้าพวกเขาทำได้ดีมาก จงคิดบวกและส่งเสริมให้พวกเขาได้แสดงบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้นเสมอ สมมติว่าผลงานเข้าตามากๆ คุณจะ ‘ลองดัน’ ให้พวกเขาเป็นตำแหน่งผู้จัดการ คุมพวก ‘Gen Y’ แทนก็ยังได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขาเชื่อใจและไว้ใจ กลายเป็นความ ‘จงรักภักดี’ จากที่คุณเชื่อมั่นในตัวพวกเขานั่นเอง

รู้จักคน Gen Z มากขึ้นแล้วใช่มั้ยครับ อีกไม่นานพวกเขาจะเป็นบุคคลที่ ‘ขับเคลื่อน’ ระบบธุรกิจทั้งหมดแทนพวกเรา เหมือนที่ Gen Y ได้กลายเป็นผู้นำโลกในยุคของโซเชี่ยลมีเดียอย่าง ‘Facebook’ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Grab, Uber กันมาแล้ว

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น