วิธีการกำหนดงบประมาณ (Budget Allocation) สำหรับธุรกิจของคุณ

สมการของการทำธุรกิจไม่ได้คิดกันง่ายๆ แบบการบวกเลข เช่น 1+1 = 2 ไม่งั้นคนที่ทำธุรกิจคง “รวย” กันหมดทั้งประเทศแล้ว หมายความว่าการทำธุรกิจนั้น มันมีอะไรซับซ้อนกว่านั้นเยอะเลยครับ

การจัดสรรงบประมาณ (ฺBudget Allocation) ถือว่าเป็นหนึ่งในส่วนของ ‘แผนธุรกิจ’ ที่คุณต้องวางแผนทุกครั้งก่อนลงมือทำธุรกิจหรือลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว เพื่อเป็นการ ‘ลดความเสี่ยง’ ที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด

การทำธุรกิจ ยิ่งในสังคมที่ขับเคี่ยวกันแบบมืออาชีพ คงไม่ง่ายนักที่คุณจะเป็น ‘ผู้ชนะ’ ในตลาดอยู่เพียงคนเดียว ต่อให้คุณเจ๋งซักแค่ไหน ซักวันนึงก็ต้องมี ‘คู่แข่ง’ เข้ามาทาบรัศมีอยู่ดี หรืแต่อให้คุณเป็น ‘เบอร์ 1’ ของประเทศนี้ ถ้าอยากรวยกว่าที่เป็นอยู่ คงถึงเวลาที่คุณเตรียมเงินแล้วนำไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน เพราะต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา แถมยังมีคู่แข่งเจ้าถิ่นยืนจังก้าอยู่ คงซี้ซั้วลงทุนแบบไม่วางแผนไม่ได้แน่ๆ

ผมจึงขอแชร์วิธีการกำหนดงบประมาณการลงทุนซึ่งใช้ได้กับธุรกิจภายในประเทศและต่างประเทศจากประสบการณ์ที่ได้ขยายธุรกิจสตาร์ทอัพจนมีสำนักงานต่างชาติอยู่ถึง 5 ประเทศ กันเลยครับ

1. จำนวนผู้มุ่งหวัง (Lead & Prospect) ที่เป็นไปได้

เป็นวิธีทำการบ้านตั้งแต่การเริ่มต้นของการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ เมื่อคุณมีสินค้าและบริการเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือ “คุณจะขายใคร” และ “ใครบ้างที่เหมาะสมกับสินค้าและบริการของคุณ” ยิ่งถ้าคุณทำธุรกิจแบบ B2B (Business-to-Business) คุณจะต้องทราบว่า “ตลาด” ที่จะซื้อขายกับคุณอยู่ที่ไหนบ้าง กลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้างที่คุณจะเข้าไปขาย ซึ่งถ้าคุณมีจำนวนลูกค้ามุ่งหวังที่เป็นไปได้เยอะมากขึ้นเท่าไหร่ หมายความว่าคุณอาจจะต้องเพิ่มจำนวนทีมงาน ไล่ตั้งแต่ทีมขาย ทีมการตลาด ทีมติดตั้ง ทีมวิศวกร ฯลฯ มากขึ้นเท่านั้น เรื่องเหล่านี้จะส่งผลต่อ “ค่าใช้จ่าย” เช่น เงินเดือน สวัสดิการ ยานพาหนะ ฯลฯ ที่จะทำให้คุณคำนวณงบประมาณได้แม่นยำขึ้น

แต่ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างทีมขนาดใหญ่เพราะคุณได้ข้อมูลมาแล้วว่ามีลูกค้าจำนวนมหาศาลที่คุณเข้าไปขายได้ คุณสามารถเริ่มต้นจากการจ้างคนไม่กี่คน (หรือถ้าไม่จ้างเลยก็ใช้ตัวคุณเองก็ได้ครับ) ช่วงแรกๆ จะเหนื่อยมากหน่อย แต่พอตัวเลขกับผลกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้ว คุณสามารถลงทุนเพิ่มตามที่ได้วางแผนตั้งแต่แรกได้เลย เพราะทำการบ้านและคำนวนงบประมาณเรื่องการจ้างคนมาแล้ว การลงทุนในเรื่องคน สินค้า คุณภาพงาน หรืองานบริการก็จะมีความเสี่ยงน้อยลงเพราะคุณอ่านตลาดขาดมาเรียบร้อยแล้ว พยายามใช้เงินในช่วงแรกให้น้อยเข้าไว้

2. ขนาดของธุรกิจในตลาด

เป็นวิธีคิดต่อเนื่องที่คุณต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าธุรกิจของคุณมี ‘มูลค่า’ มากแค่ไหน เช่น ถ้าคุณต้องการเปิดร้านขายของออนไลน์เล็กๆ ฝูงปลาในตลาดมีจำนวนมหาศาลก็จริง ถ้าคุณอยากกินรวบและอยากรวยมากๆ คุณก็ต้องลงทุนมากตาม ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น หรือถ้าคุณทำธุรกิจด้านไอทีที่ต้องพึ่งเครื่องจักรชั้นสูงและต้องมีทีมวิศวกรที่ติดตั้งระบบได้ ซึ่งวงการไอทีก็มีผลประโยชน์และมูลค่าการซื้อขายให้คุณได้เก็บเกี่ยว การเตรียมงบประมาณสำหรับลงทุนเรื่องสินค้าและบริการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น สรุปก็คือกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าจะแปรผันกับงบประมาณที่คุณมีนั่นเอง

3. จำนวนคู่แข่งในตลาด

คู่แข่งในตลาดเป็นปัจจัยที่คุณต้องวางงบประมาณเพื่อ ‘สู้รบ’ กับพวกเขาในสงครามธุรกิจ จงประเมินให้ดีว่าในตลาดของคุณมีคู่แข่งระดับเดียวกับคุณมากแค่ไหน เพราะถ้ายิ่งมีมากและคุณมาทีหลัง คุณยิ่งต้องเหนื่อยมากกว่าเจ้าถิ่นที่ทำตลาดมาก่อนอยู่แล้ว งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันจะอยู่ในส่วนของการเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น เช่น กิจกรรมทางการตลาด ขนาดของทีมขาย เป็นต้น คงจะเป็นการดีแน่ถ้าคุณทำธุรกิจที่ในตลาดปราศจากหรือไม่ค่อยมีคู่แข่ง เพราะคุณจะได้ใช้งบประมาณน้อยลงสำหรับการติดอาวุธเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน 

4. ทีมงานที่ต้องใช้

เป็นสิ่งแรกที่ต้องคิดเช่นกัน ถ้าธุรกิจที่คุณทำสามารถดำเนินได้ด้วยตัวคนเดียวก็จงเริ่มต้นทำด้วยตนเองไปก่อน เพียงแต่ขอให้วางแผนเพิ่มขึ้นสำหรับการเพิ่มขนาดของเป้าหมาย เช่น ต้องการได้ยอดขายที่มากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องจ้างทีมขาย ทีมฝ่ายผลิต ทีมติดตั้ง ทีมบริการ ฯลฯ เพิ่มขึ้นตามปริมาณงานหรือปริมาณลูกค้าเอาไว้ด้วย หรือคำนวนจาก ‘ผลประกอบการ’ โดยเฉพาะ ‘กำไร’ ที่ธุรกิจของคุณได้รับ

ถ้าอัตราการเติบโตของบริษัทคุณสูงขึ้นมาก การจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มทีมงานในส่วนงานต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อรักษาอัตราการเติบโตและปกป้อง ‘ส่วนแบ่งตลาด’ ระหว่างที่คู่แข่งยังไม่รุกหนัก การเสริมทัพด้วยทีมงานหรือคนชั้นเยี่ยมก็จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะในโลกแห่งการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องงานอยู่ตลอดเวลา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร หรือผู้จัดการที่ต้องถืองบประมาณและจัดสรรให้เหมาะสมกับการเติบโตทางธุรกิจ การเดินหมากผิดตาเดียวอาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง เสี่ยง และถึงขั้นเจ๊งได้เลย

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น