Community Marketing หนึ่งในการตลาดที่มาแรงในชั่วโมงนี้

ช่วงนี้ถือว่าการตลาดออนไลน์มีบทบาทสำคัญที่สุดในโลกธุรกิจท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด 19 เลยก็ว่าได้ครับ เพราะมันเป็นพื้นที่ซื้อขายหรือตลาดการค้าเดียวที่ไม่ว่าจะเป็นไวรัสร้ายกาจขนาดไหน หรือว่าเกิดหายนะเกี่ยวกับสงคราม ภัยพิบัติต่างๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรโลกออนไลน์ได้ 

เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพบกับ “ปรากฎการณ์” ด้านการตลาดและการค้าบนตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) ซึ่งผมเชื่อว่าการตลาดรูปแบบนี้น่าจะปรากฎอยู่บนจอมือถือของคุณเรื่อยๆ นั่นก็คือการที่กลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยดัง ได้มีการสร้างกลุ่มปิด (Close Group) บนเฟซบุ้คที่เกี่ยวกับการซื้อขายเฉพาะกลุ่ม

กลุ่มปิดชื่อดังที่สุดและเป็นผู้เริ่มก่อตั้งช่วงโควิด 19 อาทิเช่น กลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน กาดหมั้วซั่วแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มจุฬาฯ และกลุ่มธรรมศาสตร์ฯ มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 กับ 150,000 คน ตามลำดับ (ของมช. ที่ผมจบมาก็ไม่เบาครับ ประมาณ 63,000 เลย)

ตอนแรกผมก็ไม่ได้อินอะไรมาก แต่พอเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักที่จบจุฬาฯ และเข้าไปแสดงความเห็น ผมจึงเริ่มให้ความสนใจว่ากลุ่มปิดข้างไหนเขาขายอะไรกัน ก็ต้องบอกว่าศิษย์เก่าจุฬาฯ หลายคนมีธุรกิจและสินค้าที่เจ๋งจริงๆ จนเริ่มมีกระแสอย่างหนักคือเหล่าเซเลป นักธุรกิจชื่อดัง ดารา นักการเมือง ก็ได้เข้ามาร่วมโพสต์ขายของด้วย

มันจึงทำให้กลุ่มเติบโตเร็วและมีจำนวนการมีส่วนร่วม (Engagement) ไม่ว่าจะเป็นยอดไลค์ คอมเมนต์ หลักร้อยหลักพัน บางคนแตะหลักหมื่นด้วยซ้ำ ผมเองในฐานะนักการตลาดและนักขายจึงวิเคราะห์ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและยังคงได้รับการพูดถึงจนถึงตอนนี้ก็ยังมีโพสต์ใหม่ๆ น่าสนใจเข้ามาไม่หยุด เพราะอะไรนั้น ลองมาฟังกันครับ

– กลุ่มหรือ “ชุมชน” (Community) บนเฟซบุ้ค ถูกสร้างมาด้วยจุดประสงค์ช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับความเดือดร้อนช่วงโควิด 19 ได้อย่างถูกจังหวะ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น โรงแรม ของกิน ร้านค้า ฯลฯ

– การมีส่วนร่วมของนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งหลายคนอยู่ในภาคธุรกิจ ทำให้การโพสต์ขายของมีสินค้าที่หลากหลาย

– โลกของเฟซบุ้คมีข้อมูลคนที่จบสถาบันนั้นๆ มากที่สุด ทำให้เพียงแค่คุณจบสถาบันที่มีกลุ่มหรือชุมชน คุณก็สามารถเข้าร่วมได้แล้ว

– กติกาการโพสต์ขายของง่ายๆ คือขอให้คุณจบสถาบันนั้นมา ถ้าสินค้าไม่ผิดกฎหมายหรือผิดกติกาของกลุ่ม คุณก็สามารถขายของได้ แต่ถ้าไม่ได้จบ คุณก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น คอมเมนต์หรือซื้อสินค้าได้ เป็นต้น

– คนที่จบจากระดับอุดมศึกษามักจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการทำงาน และตอนนี้ก็อยู่ในช่วง Lockdown กับ Work from Home กอปรกับห้างร้านอยู่ในช่วงปิดตัว ทำให้ผู้คนใช้สื่อโซเชี่ยลมากขึ้นและเลือกช็อปออนไลน์เยอะขึ้น

หัวใจสำคัญของ Online Community หรือการสร้างกลุ่มกับชุมชนบนโลกออนไลน์ ก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับอัลกอริทึ่มของเฟซบุ้คด้วยครับ เพราะเฟซบุ้คจะทำงานด้วยการดึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคุณขึ้นมาให้กระตุกต่อมความต้องการจนบางทีคุณก็กดไลค์หรือถูกชักชวนโดยเพื่อนของคุณ วิธีการก็คือ “จุดร่วมหรือจุดที่เหมือนกัน” ระหว่างเพื่อนในเฟซบุ้คของคุณกับตัวคุณ เช่น เพื่อนคุณจบจุฬาฯ แล้วไปโพสต์ขายของบนนั้น และบังเอิญคุณก็จบจุฬาฯ ด้วย เฟซบุ้คจะดึงข้อมูลที่เพื่อนคุณไปโพสต์ในนั้นมาที่หน้าจอคุณฟีดแรกๆ เลย ทำให้คุณเริ่มเกิดการมีส่วนร่วม ยิ่งถ้าเพื่อนคุณจบจุฬาฯ แล้วไปกดไลค์ หรือคอมเมนต์เมื่อไหร่ โอกาสเห็นก็มากขึ้น

ผมจึงทำการทดลองด้วยตนเองด้วยการโพสต์ขายของที่เกี่ยวกับธุรกิจของผมบ้าง ซึ่งผมโพสต์ได้เพราะผมเรียนอยู่ที่สถาบันศศินทร์ ที่ถือว่าอยู่ในสังกัดของจุฬาฯ เช่นกัน ผลที่ได้คือคนที่มีส่วนร่วมเข้ามากดไลค์หรือคอมเมนต์ จนถึงขั้นมีนักธุรกิจกับอดีตนักร้องซูเปอร์สตาร์ชื่อดังทักมาติดต่อคุยงานเป็นเรื่องเป็นราว คนที่มีส่วนร่วมส่วนใหญ่ในโพสต์ของผมก็คือเพื่อนที่เรียนศศินทร์ด้วยกันกับคนรู้จักที่เรียนจบจุฬาฯ กับเพื่อนที่ไม่ได้จบจุฬาฯ แต่ก็อยู่ในกลุ่มปิดนั้นนั่นเอง

จึงสรุปได้ว่ามันคือวิธีการทางการตลาดออนไลน์แบบใหม่ ซึ่งผมขอเรียกว่า “Community Marketing” ที่คุณสามารถลงมือทำได้เลย โดยที่แทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนซักบาท ไม่ต้องเสียเงินยิงโฆษณาผ่านเฟซบุ้คเลยด้วยซ้ำ อาจจะออกแนว “อัฐยายซื้อขนมยาย” ไปซักหน่อยเพราะกลุ่มปิดมีข้อจำกัดคือคนที่มีส่วนร่วมในการมองเห็นจะต้องอยู่ในกลุ่มด้วยเท่านั้น คนนอกหมดสิทธิ์ ถ้ากลุ่มเล็กเกินไปก็จะทำให้โอกาสในการซื้อน้อยลงด้วย วิธีการทำ Community Marketing ให้ประสบความสำเร็จ มีดังนี้

1. กลุ่มปิดที่ต้องการสร้างตลาดซื้อขายจะต้องหาจุดร่วมของสมาชิกให้เจอกันก่อน

จงอย่าตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อต้องการคนเข้ากลุ่มแบบไร้เป้าหมาย เช่น คุณต้องการสร้างกลุ่มปิดที่มีคนเข้ามาซื้อขายกันหลักล้าน ซึ่งมันกว้างเกินไป แถมยังก่อให้เกิดการไม่มีส่วนร่วมระหว่างคนในกลุ่ม จงสร้างกลุ่มโดยมีจุดร่วมที่บ่งบอกถึงอะไรที่เหมือนกันของสมาชิก เช่น กลุ่มปิดสำหรับคนขับรถรุ่นนี้ยี่ห้อนี้ กลุ่มปิดมหาลัย กลุ่มปิดสัตว์เลี้ยง กลุ่มปิดอสังหาฯ กลุ่มปิดแบรนด์เนม ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มจะมีการปฎิสัมพันธ์จากเรื่องที่ตัวเองชื่นชอบหรือสิ่งที่ตัวเองมี ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มมากขึ้น 

2. จงคัดผู้มีอิทธิพลที่มีความสามารถในการสื่อสารเข้ามาอยู่ในกลุ่มให้มากเข้าไว้

กลุ่มจะดังไม่ดัง คนในกลุ่มก็ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริงและรู้จิง ความสำเร็จของกลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ก็คือการที่บรรดาตัวพ่อ ตัวแม่ของธุรกิจที่หลากหลายเข้ามาอยู่ด้วยกัน คนจึงมีโอกาสได้เห็นของเจ๋งๆ แคปชั่นโดนๆ แถมด้วยโปรไฟล์คนขายที่น่าเชื่อถือ คุณจึงต้องใช้หลักการนี้ในการสร้างกลุ่มของคุณ ซึ่งคุณภาพที่ได้ก็ต้องมาจากคนที่ดี คนที่โพสต์ด้วยความสร้างสรรค์ มีเนื้อหาหรือสินค้าและบริการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าสมมติว่าพึ่งตั้งและไม่รู้ว่าจะชวนใครเพราะเพื่อนน้อย (ฮา) คนที่ว่านั้นก็คือ “ตัวคุณ” นั่นแหละครับที่ต้องเจ๋งจริง 

3. แบรนด์สินค้าสามารถเข้าไปโพสต์ขายของหรือทำการตลาดได้ด้วยการ “ให้คนอื่นพูดแทนแบรนด์”

หลักการนี้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นการตลาดที่ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกร่วม ไปจนถึงได้รับรู้ประสบการณ์การใช้งานจริง ซึ่งเรียกว่า การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นดารา แต่เป็นเน็ตไอดอล คนที่มีผู้ติดตาม น่าเชื่อถือระดับหนึ่ง มีการใช้สินค้าจริงและบรรยายผลการใช้งานตามจริงด้วยงานวีดีโอ เช่น บิวตี้บล็อกเกอร์ กูรูรถยนต์ กูรูไอที เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณเป็นแบรนด์ คุณควรใช้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เข้าไปโพสต์ขายของในนั้นแทนคุณเอง ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็ให้บรรดาพนักงานของคุณไปโพสต์แทนเลยครับ

4. ความยั่งยืนและความสม่ำเสมอคือสิ่งที่สำคัญ

การทำให้สมาชิกในกลุ่มเติบโตอย่างยั่งยืนและมีผู้ติดตามสม่ำเสมอก็คือวินัยในการโพสต์ เนื้อหาที่ดีและพยายามหมั่นตรวจเช็คเพื่อพัฒนาให้มีเนื้อหาที่สดใหม่อยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงการสร้างกฎ กติกาและมีผลบังคับใช้อย่างยุติธรรม เพราะมากคนก็มากความ จงเคลียร์ดราม่าในกลุ่มให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และที่สำคัญคือจงอย่าลุแก่อำนาจด้วยการไม่เห็นด้วยกับคนที่คอมเมนต์ไม่ถูกใจจนเกินงาม หรือแอบไปรับผลประโยชน์ส่วนตัวเวลามีแบรนด์สินค้าเข้ามาลงโฆษณา ส่วนใหญ่มักจบไม่สวยครับ

Leave your vote

-1 points
Upvote Downvote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น