10 ข้อผิดพลาดที่ทำให้คุณเจ๊งในธุรกิจ Startup

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่กับวงการ Startup ซึ่งเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงขอเล่าสักเล็กน้อยเกี่ยวกับธุรกิจนี้ดูนะครับ 

‘Startup’ คือการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด มีวิธีสร้างรายได้ที่สามารถหาเงินแบบทำซ้ำและขยายได้ง่ายนั่นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสที่ยังไม่มีใครเคยเห็น เช่น แอพพลิเคชั่นเคลมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเอง แอพพลิเคชั่นรวมที่จอดรถ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจแบบ B2C แต่ก็มีธุรกิจ Startup บางอย่างที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ B2B เช่นกัน เช่น แสนรู้ Social Monitoring ที่สนับสนุนการทำงานของฝ่ายการตลาดให้กับองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น
ที่มา: https://tech.mthai.com/tips-technic/51936.html

ซึ่งการที่จะทำให้บริษัทเติบโตไปได้อย่างก้าวกระโดด ต้องพึ่งพาเงินทุนจากนายทุนที่เรียกว่า “VC” (Venture Capitalist) ที่ให้เงินอัดฉีดแลกกับหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัท ซึ่งไม่จำเป็นต้องกู้แบงค์อีกต่อไปแล้ว เพราะแบงค์นั้นค่อนข้างยุ่งยาก ต้องการความมั่นคงทางการเงินสูงเพื่อลดความเสี่ยง แถมยังกินดอกเบี้ยคุณอีกต่างหาก ต่างกับ VC ที่ให้เงินมาแล้ว ถ้าคุณทำธุรกิจจนเจ๊ง VC ก็เจ๊งไปพร้อมกับคุณโดยที่ไม่ต้องหาเงินมาใช้หนี้แต่อย่างใด

ขั้นตอนการขอเงิน VC จะใช้คำศัพท์ของวงการสตาร์ทอัพที่เรียกว่าการ “Pitching” ซึ่งถ้าเว้ากันซื้อๆ ก็คือการ “โม้” ถึงความเป็นไปได้อย่างมีหลักการจน VC เชื่อและมอบเงินให้คุณทำ ซึ่งในเมืองไทยก็มีหลายสำนักที่รวบรวม VC เช่น DTAC, AIS, True, SCB, Kbank, ฯลฯ ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ได้ตบเท้าเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Startup เป็นจำนวนมาก เป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ Startup โดยเฉพาะ

Pitching นี่แหละครับเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าสตาร์ทอัพคุณจะเป็นแค่แผนการ หรือดำเนินธุรกิจมาสักระยะหนึ่ง คุณมีสิทธิ์ที่จะ Pitching เพื่อหา VC มาลงทุนเพิ่ม ทำให้บริษัทคุณมีเงินขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคุณโม้ไม่ได้เรื่อง หรือดำเนินธุรกิจผิดพลาด คุณก็หมดสิทธิ์ได้เงิน

ลองมาดูข้อผิดพลาดหลักๆ ที่ทำให้บริษัท Startup ร้อยละ 80 นั้นบาดเจ็บล้มตาย มีเพียง 20% เท่านั้นที่อยู่รอด และ 10% เท่านั้นที่น่าจะรวยได้ เพราะอะไรคนถึงล้มเหลวในการทำธุรกิจนี้ ลองมาฟังกันเลยครับ

1. สร้างสิ่งที่ไม่ได้มีใครต้องการ

พูดง่ายๆ ก็คือสิ่งที่คุณคิดมันไร้ประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเสียเวลาทำไปก็เท่านั้น คุณอาจจะคิดค้นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับคนไม่กี่กลุ่ม แถมยังหาเงินจากสิ่งที่คุณทำไม่ได้ ถ้าเป็นอีหรอบนี้ บริษัท Startup ในฝันก็คงถึงกาลอวสานแน่นอน ถ้าคุณตอบไม่ได้ว่าสตาร์ทอัพของคุณมีประโยชน์ต่อใคร ทำไปเพื่ออะไร หาเงินจากตรงนี้ยังไง ผมแนะนำว่าขอให้คุณกลับไปคิดใหม่หรือเลิกทำไปเลยจะดีกว่าครับ 

2. จ้างคนห่วยๆ เข้ามาทำงานมากเกินไป 

ตอนได้เงินทุนมาส่วนหนึ่ง คุณอาจจะขาดประสบการณ์ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน เช่น จ้างคนที่ไม่มีประสบการณ์ จ้างคนห่วยที่ค่าตัวแพงเกินเหตุ ไม่กล้าทุ่มเงินกับการจ้างคนเก่ง ไม่มีระบบการสอนงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น อย่างนี้เตรียมรับมือกับความล้มเหลวได้เลย คุณต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่าถ้าคุณไม่มีประสบการณ์หรือเคยผ่านงานองค์กรใหญ่ๆ ในเรื่องนี้ คุณต้องแก้ปัญหาให้ได้ด้วยการจ้างคนที่เก่งเรื่องนี้เข้ามาช่วยคุณ คุณไม่ใช่ซุปเปอร์แมนที่ทำได้ทุกอย่าง การจ้างคน สร้างคน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้

3. ขาดการโฟกัสในสิ่งที่จำเป็น 

ในบางครั้ง คุณอาจจะมีไอเดียที่บรรเจิดมาก เหมาะกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่คุณดันไปโฟกัสผิดจุด เช่น คุณโฟกัสเรื่องคุณภาพของสินค้าหรือบริการมากเกินไปจนละเลยการขาย ซึ่งการขายนั้นเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจคุณเลยก็ว่าได้ แต่พอคุณไม่ใส่ใจ นอกจากขายไม่ได้แล้ว คุณยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้ไม่มีเงินเดือนให้พนักงาน ไม่มีงบการตลาด ไม่มีเงินจ้างทีมงานใหม่ ผลก็คือเจ๊งแบบ 100%

4. ล้มเหลวในการขายและการตลาด

สตาร์ทอัพจะอยู่ได้ต้องมี “เงิน” คอยหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ แม้ว่าสินค้าของคุณจะเทพซักแค่ไหน แต่ถ้าขายไม่ได้ ทีมขายไม่เก่ง คุณก็ไม่ได้เงินอยู่ดี หรือแม้แต่การทำการตลาดที่ไม่ได้เรื่อง โฆษณาไม่ถูกจุด ผู้บริโภคไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจประโยชน์ของสิ่งที่คุณสร้างมา คุณก็เตรียมใจรับความล้มเหลวได้เลย ดังนั้น การมุ่งเน้นการสร้างทีมขายที่แข็งแกร่งและทีมการตลาดที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่คุณต้องตระหนักอยู่เสมอ

5. มีหุ้นส่วนที่ไม่ได้เรื่อง

สตาร์ทอัพส่วนใหญ่อาจจะมาจากความเป็นเพื่อนหรือชวนๆ กันมา มีประสบการณ์การทำงานที่เท่าๆ กัน ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งเริ่มทำงานไม่มีความเป็นมืออาชีพ กินแรงกันและกัน เป็นตัวถ่วงของทีม ฯลฯ เมื่อนั้นความบรรลัยมาเยือนแน่นอน เพราะเรื่องเงินนั้นไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์ทุกคนเกิดมาร้อยพ่อพันแม่ ดังนั้นจะให้พวกเขาทำงานได้เหมือนกับคุณเปี๊ยบก็คงจะยากหน่อย ถ้าหุ้นส่วนห่วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณสร้างมาอาจจะสลายไปในพริบตา มีหลายกรณีที่แตกหักกันด้วยเรื่องของผลประโยชน์มาเยอะแล้ว คุณต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก 

6. มัวแต่ไล่ตามหานายทุน ไม่ใช่ลูกค้า

เนื่องจากสตาร์ทอัพมุ่งเน้นไปที่การหาเงินอัดฉีดจาก VC ทำให้หลายคนเริ่มหายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการเตรียม Pitching หรือเสนอหน้าหา VC อย่างขยันขันแข็ง เพื่อให้ได้รับเงินทุนอัดฉีดเพิ่มขึ้น แต่ดันลืมวิ่งไล่ตามหาลูกค้าที่แท้จริง ทำให้ไม่เข้าใจว่าลูกค้านั้นต้องการอะไร จึงขาดการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ตลาด อย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่นายทุนยอมมอบเงินให้คือความเป็นไปได้จากยอดขายของคุณที่ลูกค้าที่แท้จริงมาซื้อต่างหาก

7. ไม่มีเงินมากพอ

ไม่ว่าจะเป็นเงินจาก VC เงินจากการขาย เงินจากผลการดำเนินงาน ถ้ามันไม่มากพอจนกลายเป็นกำไร หรือแม้แต่การวิ่งเต้นหาเงินทุนจากแหล่งอื่นไม่ทัน คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคุณต้องเตรียมใจรับสภาพกับการเจ๊งอย่างแน่นอน การทำธุรกิจจะต้องมุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไรอย่างขาวสะอาดอยู่เสมอ

8. ใช้เงินมากเกินไป

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดตายของธุรกิจสตาร์ทอัพ นั่นคือหลังจากได้รับเงินทุน ไม่ว่าจะจำนวนไม่กี่ล้านหรือมากมายมหาศาล ถ้าคุณใช้เงินไม่เป็น ทุ่มเงินไปกับเรื่องไร้สาระ เช่น ทำออฟฟิศหรูหรา สร้างตึกใหม่ ถอยรถเบนซ์ประจำตำแหน่ง ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ใช้เงินเกินตัว ฯลฯ โดยที่ไม่ได้ใช้เงินไปกับการลงทุนเรื่องที่ทำให้คุณได้เงินเลย เช่น ลงทุนจ้างพนังงานขายเพิ่ม ทีมโปรแกรมเมอร์ที่เทพขึ้น ทีมการตลาดเก่งๆ ฯลฯ เมื่อนั้นก็เตรียมพบกับหายนะ

9. ขาดที่ปรึกษาที่ดีในการช่วยเหลือ

ธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะต้องมีบริษัทพี่เลี้ยง (Incubator) ซึ่งประกอบไปด้วยที่ปรึกษาซึ่งเก่งในศาสตร์หลายๆ แขนงสำหรับการทำธุรกิจ เช่น ที่ปรึกษาด้านการขาย ที่ปรึกษาด้านการตลาด ที่ปรึกษาด้านการเงิน นายหน้าคอนเน็คชั่นเทพ เป็นต้น เรียกได้ว่าพวกเขาจะพาคุณขึ้นสวรรค์ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าคุณไม่มีที่ปรึกษาเลยหรือดันไปเจอกับที่ปรึกษากากๆ ทำให้การลงทุน การดำเนินงานของคุณผิดพลาด เมื่อนั้นก็พาคุณตายหมู่แน่นอน

10. เพิกเฉยต่อกิจกรรมในโลกโซเชี่ยลมีเดีย

ง่ายๆ เลนครับ สตาร์ทอัพจะดังได้ก็ต้องเป็นที่รู้จัก การที่จะทำให้คนรู้จักมากๆ ในชั่วพริบตา ก็ต้องใช้โซเชี่ยลมีเดียอย่าง เฟสบุ้ค ยูทู้ป เว็ปไซท์ชื่อดังต่างๆ เป็นต้น ในการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตัวคุณนั้นเป็นที่รู้จัก หรือแม้แต่การออกหน้า ออกสื่อ ลงนิตยสาร เพื่อให้ตัวเองดังเร็วๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด แต่ถ้าคุณดันเป็นพวกขี้อาย ไม่ชอบเสนอหน้า ไม่เคยออกสื่อ ไม่ลงโฆษณา ฯลฯ เมื่อนั้นก็จะไม่มีใครรู้จักคุณ ไม่รู้สิ่งที่คุณทำ ไม่เห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้เลย คุณก็เตรียมเจอเบอร์สองเข้ามาทุบคุณให้ละเอียดเพราะพวกเขาดังกว่าทันทีครับ

หวังว่าจะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในธุรกิจสตาร์ทอัพนะครับ

Leave your vote

Comments

0 comments

Similar Posts

ใส่ความเห็น